- 29 ต.ค. 2564
จังหวัดเชียงใหม่ เเถลงชี้เเจงเเล้ว เจอผู้ติดเชื้อโควิดอัลฟ่าพลัส เกิดการกลายพันธุ์เกิดขึ้นในบางตำแหน่งของยีนส์
เเจงเเล้ว เชียงใหม่เจอโควิดอัลฟ่าพลัส 2 ราย โดยในวันที่ 29 ต.ค.64 นายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง กรณีข้อมูลเกี่ยวกับการพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์อัลฟาพลัส ที่พบในเรือนจำกลางเชียงใหม่ ว่า ข้อมูลที่ได้จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เรื่องผลการตรวจสายพันธุ์แล้วพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสายพันธุ์ที่เป็น อัลฟาพลัส ซึ่งมีการกลายพันธุ์ในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 2 ราย โดยข้อมูลทั้ง 2 รายนี้ ได้มีการส่งตรวจอย่างละเอียดเพื่อหาสารพันธุกรรม ซึ่งผู้ติดเชื้อทั้ง 2 รายเป็นผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำกลางเชียงใหม่ที่เคยมีการระบาดในช่วงเดือนพฤษภาคมของปีนี้
ผู้ต้องขังรายแรกที่ทำให้เกิดการติดเชื้อมาอีกครั้ง เป็นผู้ต้องขังที่เคยติดเชื้อเดิมในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ได้รักษาจนอาการดีขึ้นก็ถูกให้กลับไปใช้ชีวิตเดิมในเรือนจำ ประเด็นก็คือ ผู้ติดเชื้อคนนี้มีโรคประจำตัว เป็นภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยหลักฐานทางวิชาการอื่นๆ ก็จะพบว่า ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีโอกาสที่จะกำจัดเชื้อได้อาจจะไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เหมือนผู้ติดเชื้อที่แข็งแรง ทำให้ผู้ติดเชื้อรายนี้มีอาการแย่ลงอีกครั้ง ผ่านไป 2-3 เดือน ในช่วงประมาณเดือนกันยายนผู้ที่ติดเชื้อคนนี้มีอาการทางเดินหายใจกลับมาอีกครั้ง ร่วมกับ มีอาการติดเชื้อและก็ตรวจพบวัณโรคปอดร่วมด้วย
ในระหว่างที่ได้มีการดูแลผู้ติดเชื้อรายนี้อีกครั้ง พบว่ามีผู้ต้องขังที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อรายนี้ที่เป็นผู้ช่วยเหลือดูแลในแดนที่เป็นสถานพยาบาลของเรือนจำ มีการติดเชื้อเพิ่มเติม ซึ่งทางแนวทางของทางจังหวัดจะมีการส่งตรวจเพื่อหาสารพันธุกรรมแบบละเอียดในกลุ่มที่มีการติดเชื้อ ในกรณีที่มีการติดเชื้อลักษณะของการติดเชื้อซ้ำ ซึ่งผลการตรวจ เบื้องต้นพบว่า เป็นสายพันธุ์อัลฟา ก็คือ เชื้อตัวเดิมกับที่เคยมีการระบาดมาในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หากแต่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 เชียงใหม่ ได้มีการส่งตัวอย่างเพื่อไปตรวจละเอียด เรียกว่า การตรวจหาสายพันธุ์ทั้งเส้นทั้งสาย หรือ Whole Genome Sequencing (WGS) ซึ่งผลการตรวจ Whole Genome Sequencing (WGS) พบว่า มีตำแหน่งกลายพันธุ์บนเชื้อที่เป็นสายพันธุ์อัลฟา (เดิม) ในตำแหน่ง E484K จึงมีการเรียกชื่อแบบง่ายๆ ว่า “อัลฟาพลัส” ซึ่งก็คือ มีตำแหน่งกลายพันธุ์ในบางส่วนของยีนส์
จากการสอบสวนโรคได้พบว่า ผู้ติดเชื้อในกลุ่มนี้ที่ได้มีการตรวจพบอัลฟาพลัส ซึ่งมีเพียง 2 ราย ไม่ได้มีประวัติเดินทาง หรือว่า ไปสัมผัสกับผู้ติดเชื้อที่อื่น หลักๆ ก็คือ เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อที่ผู้ติดเชื้อที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่สามารถจะกำจัดเชื้อออกไปได้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจจะมีการติดเชื้อที่เรื้อรังและยาวนานกว่าผู้อื่น เพราะฉะนั้นก็เลยมีตำแหน่งที่เกิดการกลายพันธุ์เกิดขึ้น
นพ.กิตติพันธุฯ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการดำเนินการตรวจเพื่อหาสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของในจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการตรวจอย่างต่อเนื่อง มีการส่งตรวจตามแนวทางที่ทางกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้วางไว้ และสายพันธุ์ที่พบในช่วงนี้ก็ยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่พบระบาดในทุกพื้นที่ในประเทศไทยนะ ยังไม่พบว่ามีการกลายพันธุ์หรือว่าตรวจพบสายพันธุ์ที่เป็นเดลต้าพลัส ที่กำลังกังวลกันและก็เฝ้าระวังกันเฉพาะ
หลักๆ ก็คงนำเรียนข้อมูลให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบเพื่อจะได้ทราบถึงที่มาที่ไปแล้วก็จะได้ไม่ได้วิตกกังวล แต่ก็ต้องเรียนว่า เราก็ยังคงติดตามแล้วก็เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง หากว่ามีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น หรือตรวจเจอการกลายพันธุ์ หรือว่าลักษณะที่จะมีผลในการที่จะต้องวางแผนอะไรเพิ่มเติม ก็จะรายงานข้อมูลเพิ่มเติมให้ทราบอีกครั้ง ทั้งนี้ในส่วนบุคคลยังคงต้องช่วยกันในการที่จะป้องกันตัวเอง ในช่วงนี้จังหวัดเชียงใหม่ก็ยังคงมีการระบาดต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเว้นระยะห่าง การปิดหน้ากาก การล้างมือ หรือที่เราเรียกว่าเป็น “Universal prevention การป้องกันแบบครอบจักรวาล” ก็ยังต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกท่านในการควบคุมอย่างเคร่งครัด เพื่อที่จะลดการแพร่ระบาดในจังหวัดเชียงใหม่ได้