- 03 พ.ย. 2564
จากสถานการณ์ "โควิด-19" ที่ระบาดมาอย่างยาวนาน ทำให้หลายคนเคยชินกับ "แอลกอฮอล์ล้างมือ" แต่ไม่รู้ว่า มันสามารถทำอันตรายกับร่างกายได้ ปริมาณคนไข้จากระบบทางเดินหายใจที่เพิ่มขึ้น ทำให้คุณหมอต้องออกมาเตือนและแนะนำวิธีใช้ให้ถูกต้อง
นพ.วินัย โบเวจา เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมามีผู้ป่วยไอเรื้อรัง แสบคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล มากขึ้น เกิดจากพฤติกรรมการใช้สเปรย์แอลกอฮอล์ผิดๆ ทำให้หลอดลมและทางเดินหายใจเกิดการอักเสบ แม้ระยะหลังคนจะเปลี่ยนจากแอลกอฮอล์เจล มาเป็นแอลกอฮอล์สเปรย์ในรูปแบบปืน หรือที่ฉีด ทำให้แอลกอฮอล์ เป็นละออง
โดยมีเคสหนึ่ง ผู้ป่วยคัดจมูก ไอเรื้อรัง เพิ่งเป็นตั้งแต่เมษาที่ผ่านมา เป็นผู้ชายวัย 50 เป็นเซลล์ขับรถไปต่างจังหวัด ทั้ง พ่นแอลกอฮอล์สเปรย์ที่ตัว พ่นในรถ แล้วก็ปิดประตูนั่งในรถ ทำอย่างนี้ 3-4 เดือน เริ่มสังเกตว่าตัวเองคัดจมูก จามบ่อยๆ แล้วมีกลิ่นแอลกอฮอล์ติดอยู่ที่จมูก แสบคอ ตรวจร่างกายพบว่า จมูก คอ บวมแดงมาก ก่อนหน้าไม่เคยเป็นภูมิแพ้ ไม่เคยมีปัญหาคัดจมูก น้ำมูกไหล แต่มีพฤติกรรมที่ทำประจำคือพ่นแอลกอฮอล์ในพื้นที่แคบ พื้นที่ปิด
เคสที่สอง เป็นผู้หญิง พนักงานร้านทั่วไป มีพฤติกรรมการใช้แอลกอฮอล์ล้างมือเสร็จปุ๊บก็จะใส่แมสทันที มีปัญหาไอและคัดจมูก ก็ซื้อยาภูมิแพ้มากิน ก็ไม่ดีขึ้น เพราะมีพฤติกรรมสูดแอลกอฮอล์"
ข้อควรระวังและพฤติกรรมเสี่ยง
ข้อ 1 คนที่ใช้แอลกอฮอล์ในพื้นที่ปิด เวลาขับรถจะใช้สเปรย์ปืนพ่นในรถ พ่นตัว แล้วปิดประตูรถทันที ละอองของแอลกอฮอล์ก็ฟุ้งอยู่ในรถ เราก็สูดดมหรือกลืนเข้าไป
แอลกอฮอล์ก็จะไปทำลายเยื่อบุเซลล์เกิดการอักเสบ แสบคอ แสบจมูก ดังนั้นห้ามใช้ในพื้นที่ปิด ถ้าจะใช้แนะนำให้พ่นสเปรย์ในรถ แล้วเปิดหน้าต่างรอให้ระเหย 1-2 นาที แล้วค่อยเข้าไปนั่ง
ข้อ 2 คนที่ใช้แอลกอฮอล์ แล้วไม่รอให้ระเหยหรือแห้ง แล้วไปสัมผัสที่ใบหน้า ตา จมูก
"อย่างคนไข้ผม เขาล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เพิ่งจะบีบเสร็จก็จับหน้ากากมาสวมแล้ว แอลกอฮอล์ที่ยังเปียกก็ไปแตะกับหน้ากาก พอหน้ากากมาชนใบหน้าก็สูดเข้าไปเต็มๆ ดังนั้น การใช้แอลกอฮอล์ไม่ว่ารูปแบบเจลหรือสเปรย์ ต้องรอให้แห้งก่อนประมาณ 30 วินาทีถึงหนึ่งนาที เมื่อแห้งแล้ว แสดงว่าฆ่าเชื้อได้แล้ว ถ้ายังไม่แห้ง ยังไม่ฆ่าเชื้อต้องระเหยก่อน"
ข้อ 3 มีกรณีผู้สูงอายุบางคน ลูกชายซื้อหัวเชื้อแอลกอฮอล์ 90% มาเพื่อผสม คุณแม่ไอเรื้อรัง มียาแก้ไอจิบอยู่แล้ว ลูกดันเอาหัวเชื้อไปวางไว้ที่โต๊ะคุณแม่ แม่ไม่รู้ก็หยิบมากระดกเข้าไปทั้งขวด
"แอลกอฮอล์สามารถกัดไปถึงหลอดอาหาร กระเพาะ สำลักเข้าไปในปอด ต้องรีบใส่ท่อช่วยหายใจ เพราะหลอดลมบวมมาก กล่องเสียงแทบจะปิดอยู่แล้ว แล้วต้องส่องกล้องทางเดินอาหารฉุกเฉิน 3-4 เดือนผ่านไป ปัจจุบันเป็นปกติดีแล้ว" คุณหมอยกตัวอย่าง
ข้อ 4 เด็กเล็ก เวลาพ่อแม่พาออกไปข้างนอก พอจะขึ้นรถก็ให้ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ เด็กล้างเสร็จก็ไปจับทุกอย่าง แล้วในเด็กถ้ามีการสูดหรือกินแอลกอฮอล์ แม้ปริมาณน้อย ก็เกิดอันตรายได้
"กรณีนี้ คุณพ่อคุณแม่ที่จับเด็กล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ ต้องสอนให้เขารอ ให้แอลกอฮอล์แห้งก่อนแล้วค่อยเข้ารถ และห้ามจับใบหน้า สอนให้เป็นนิสัย"