- 05 พ.ย. 2564
หนุ่มได้บทเรียนกุญแจรถเสียเปิดรถไม่ได้ ต้องเรียกช่างซ่อม แค่เสี้ยววินาทีเสียเงินค่าจ้างไป 800 บาท ทำไมแพงจัง ก่อนคิดได้ว่า ทุกอาชีพมีราคาที่ต้องจ่าย เพราะเราเองก็ทำไม่ได้
หลายคนอาจจะสงสัยว่า อาชีพงานบริการ หรืองานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ช่างซ่อม กราฟิกดีไซน์เนอร์ ใช้เวลาในการทำงานแค่แป๊บเดียวเท่านั้น แต่ทำไมถึงคิดค่าจ้างราคาแพง จะขอลดต่อรองราคาได้ไหม ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมากในโลกออนไลน์ โดยมีการแชร์ส่งต่อเรื่องราวกันมากกว่า 13,000 ครั้งเลยทีเดียว
โดยเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 64 ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ปิยพงศ์ วันดี แชร์เรื่องราวอีกมุมหนึ่งคนที่ทำงานบริการ โดยผู้โพสต์เล่าว่าตนเองต้องเจอเรื่องไม่คาดคิดในช่วงเวลาที่เร่งรีบ ซึ่งนั่นก็คือ ประตูรถล็อกไม่สามารถเข้าไปในตัวรถได้ ทั้งที่อีก 1 ชั่วโมงจะมีประชุมกับลูกค้า ซึ่งทางเลือกในการแก้ไขปัญหาฉุกเฉินนี้ ก็คงหนีไม่พ้นการโทรศัพท์แจ้งลูกค้าก่อนว่า อาจจะไปไม่ทัน และต้องนัดวันประชุมใหม่ และต่อมาเจ้าของโพสต์ได้หาเบอร์โทรศัพท์ร้านกุญแจใกล้บ้าน ให้มาซ่อมประตูรถให้ จนกลายเป็นเรื่องประทับใจ โดยผู้โพสต์ได้ระบุเรื่องทั้งหมดดังนี้
"#ทุกวิชาชีพมีคุณค่าและราคาที่ต้องจ่าย รถผมล็อกเอง เพราะกุญแจ central lock แบตเตอรี่อ่อน ผมมีประชุม ในอีก 1 ชม.ข้างหน้า ผมรีบโทรบอกลูกค้าทันทีว่าผมคงไปไม่ทันอาจจะต้องนัดวันใหม่ พร้อมด้วยเหตุผล ผมหาเบอร์ร้านกุญแจใกล้บ้าน จนได้ราคาที่ 1,500 บาท 800 บาท และ 500 บาท คนที่พร้อมมาได้ทันทีคือ 800 บาท และเป็นคนเดียวที่รับปากว่าไขได้ ผมรออยู่ 40 นาที "ช่างสาม" ไขกุญแจโดยใช้เครื่องมือเพียง 3 ชิ้น คือน้ำมันอเนกประสงค์ คีม 1 ชิ้น และเหล็กปลายแหลม 1 ชิ้นเพียงไม่กี่นาที ช่างสามไขกุญแจผมเสร็จ
แวบแรกผมคิดจะต่อรองราคา เพราะรู้สึกว่าเร็วมาก แค่นี้เอง 800 บาทเอง เสี้ยวความคิดลูกค้าผมโทรหา และบอกผมว่าเค้ารอผมอยู่ถ้าไขกุญแจได้วันนี้เค้ารอได้ทั้งวัน นาทีนี้ผมเจอสัจธรรมเลยผมควักเงินจ่ายทันที และขอบคุณช่างสาม "สิ่งที่เราทำไม่ได้เอง มีราคาเสมอ"
ขอบคุณพระเจ้า ลูกค้าเคยมานั่งรอผมทำงานที่ออฟฟิศและบอกผมว่าเห็นคุณขีดๆ ไม่กี่เส้น คลิกเมาส์ไม่กี่ครั้งงานคุณก็เสร็จแล้วลดราคาให้ผมหน่อยไม่ได้หรอ? ลูกค้าคงไม่เคยเห็นตั้งแต่ชีวิตวัยประถมที่ผมเขียนรูปเดือนเดือนนึ งหมดสมุดวาดเขียนไปเป็น 10 เล่ม ไม่เคยเห็นตอนเร่งส่งงานสเก็ตให้เสร็จภายใน 3 ชั่วโมงตอนคาบเรียน ปวช. ไม่เคยเห็นตอนอดหลับอดนอนทำโปรเจ็คชนิดที่แทบไม่ได้นอนกันทั้งอาทิตย์ ไม่เคยเห็นเวลาที่ตื่นมาทุกเช้าแล้วอ่านหนังสือวันละ 10 หน้า ไม่เคยเห็นเวลาที่เก็บงานของลูกค้ามาฝันในเวลาหลับนอน"
ขอบคุณ FB : ปิยพงศ์ วันดี , สถาปนิก - มัณฑนากร ใจดี