- 26 พ.ย. 2564
ทำความรู้จัก B.1.1.529 โควิดสายพันธุ์ใหม่ คาดฟักตัวจากผู้ป่วยเอดส์ นักวิทย์ต่างประเทศสุดกังวล บอกอันตรายมาก แต่แพทย์ไทยชี้ อย่าตกใจ
สืบเนื่องจากที่ก่อนหน้านี้ นายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีสาธารณสุขสหราชอาณาจักร มีความกังวลว่า เชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดในแอฟริกาใต้ อาจส่งผลให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพน้อยลง จึงมีความจำเป็นต้องระงับเที่ยวบินจาก 6 ประเทศในแอฟริกาเป็นการชั่วคราว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญประสานเสียงเตือนให้ระวังเชื้อโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ใหม่ สุดอันตราย จากบอตสวานา ซึ่งถูกตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.1.529 เกิดการกลายพันธุ์มากที่สุดเท่าที่เคยพบ และอาจอันตรายกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา ที่เป็นสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดทั่วโลกในขณะนี้อีกด้วย
โดยความน่ากลัวของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ซึ่งยังถูกตั้งชื่อเรียกว่า "Nu" ก็คือ มันเกิดการกลายพันธุ์มากถึง 32 ตำแหน่ง จนถือเป็นเชื้อโควิด ที่เกิดกลายพันธุ์มากที่สุดเท่าที่เคยพบเลยเดียว และขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 อยู่ที่เพียง 10 ราย แต่พบผู้ติดเชื้อใน 3 ประเทศแล้ว และจะแพร่ระบาดมากขึ้น
จากการกลายพันธุ์ถึง 32 ตำแหน่งของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากชี้ว่าจะทำให้เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์นี้ แพร่กระจายได้สูงขึ้น, สามารถต่อต้านวัคซีนและยังเป็นเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงที่โปรตีนหนาม หรือ สไปค์โปรตีน มากที่สุดกว่าสายพันธุ์อื่นอีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงของสไปค์โปรตีน ของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ทำให้การฉีดวัคซีนในปัจจุบันนี้ต้องพบกับความยากมากขึ้น เพราะระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจากการฉีดวัคซีนในขณะนี้ จดจำเชื้อโควิด-19 ที่เป็นเชื้อโควิดก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกัน ดร.ทอม พีค็อก นักไวรัสวิทยาประจำมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ในอังกฤษ ซึ่งเป็นนักไวรัสวิทยาคนแรกที่หยิบยกการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ได้อธิบายถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ว่า เป็นการผสมผสานการกลายพันธุ์ที่น่าสยอง
พร้อมกันนั้น ดร.พีค็อก ยังเตือนว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ซึ่งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ ถือเป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีศักยภาพความร้ายกาจที่จะก่อให้เกิดความเลวร้ายมากที่สุดกว่าเชื้อทุกชนิด รวมทั้งเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา
ทว่าด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดวันที่ 24 พ.ย. องค์การอนามัยโลกยังจับที่สายพันธุ์ 4 ตัวเดิมคือ แอลฟา แกรมมา เดลต้า และเบต้า
ส่วนสายพันธุ์มิวและแลมดาก็ยังเฝ้าติดตาม มีการพบสายพันธุ์ใหม่ B .1.1.529 แต่ไม่ต้องตกใจเพราะมีการถอดรหัส พบ 10 ราย เจอที่บอสวานา 3 ราย ฮ่องกง 1 ราย แอฟริกาใต้ 6 ราย โดยมีการกลายพันธุ์ 32 จุดที่เกี่ยวข้องกับสไปรท์โปรตีน ซึ่งเป็นตัวที่เข้าสู่เซลล์ทำให้เกิดการติดเชื้อ ทำให้นำสดไปรท์โปรตีนไปผลิตวัคซีน แต่หากตรงนี้กลายพันธุ์จนเพี้ยนอาจจะทำให้เชื้อหลุดรอดจากวัคซีนที่ฉีด แต่ตอนนี้ยังไม่มีรายงานเรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว่า ขณะนี้พบการระบาดของไวรัส B.1.1.529 แค่ 10 คน ในแอฟฟริกาและมีการเดินทางมาต่อที่ ฮ่องกง 1 คนเท่านั้น
จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบมีการกลายพันธุ์ 32 ตำแหน่ง แต่ในส่วนนี้จะมีผลให้เชื้อรุนแรงขึ้นหรือไม่ ต้อง ใช้เวลาให้ไวรัสได้ พิสูจน์กับสิ่งแวดล้อม ประมาณ 3-6 เดือน ค่อยกลับมาดูอีกครั้งหนึ่ง หากเชื้อเข้ากับสิ่งแวดล้อม แข็งแรงแพร่เร็ว เชื้อนั้นก็ยังคงอยู่ แต่หากการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้อ่อนแอลง หรือ เชื้อพิการ เชื้อไวรัสนั้นก็จะค่อยๆ หายไปกับสิ่งแวดล้อม ความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะเครื่องมือตรวจจับเชื้อไวรัส และการแปลผลถอดรหัสพันธุกรรมที่ทำกัน ในหลายหน่วยงาน และส่งข้อมูลทวิตหากัน
อย่างไรก็ตาม ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่อยากให้ประชาชนวิตกกังวล หรือ ตื่นตระหนก เพราะการเปลี่ยนของไวรัสเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่เกิดขึ้น ขณะนี้ตนกำลังเตรียมถอดรหัสพันธุกรรมและติดตามไวรัส B.1.1.529 ว่าตำแหน่ง ที่มีการกลายพันธุ์คือจุดไหน