โคราชหวั่น "คลัสเตอร์เร่ขายนมเปรี้ยว" ติดเชื้อแล้ว 12 ราย

โคราชหวั่น "คลัสเตอร์เร่ขายนมเปรี้ยว" ซึ่งได้มีการเร่ขายนมเปรี้ยวตามร้านอาหารและแยกต่างๆ ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อแล้ว 12 ราย

วันที่ 27 พ.ย.2564 นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในพื้นที่ 32 อำเภอ ของ จ.นครราชสีมา ว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 110 ราย เป็นผู้ป่วยนอกพื้นที่ 1 ราย และผู้ป่วยในพื้นที่ 109 ราย รวมป่วยสะสม 32,648 ราย รักษาหาย 30,975 ราย ยังรักษาอยู่ 1,421 ราย เสียชีวิตสะสม 252 ราย ส่วนสถานการณ์ผู้ต้องขังเรือนจำกลางนครราชสีมา ติดเชื้อเพิ่ม 1 ราย รักษาหาย 1,822 ราย ป่วยสะสม 1,945 ราย และทัณฑสถานหญิง อ.สีคิ้ว ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาหาย 484 ป่วยสะสม 506 ราย

ทั้งนี้ ได้เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของคลัสเตอร์ ต.หนองจะบก อ.เมืองนครราชสีมา โดยไทม์ไลน์พบผู้ป่วยรายแรกเป็นชายอายุ 39 ปี เป็นลูกจ้างของบริษัทแห่งหนึ่ง ประกอบกิจการขายส่งและปลีกนมเปรี้ยว นมพร่องมันเนย นมรสผลไม้ โยเกิร์ต นมแปรรูปยี่ห้อดัง ตั้งอยู่ละแวกห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาสามแยกปักธงชัย เจ้าหน้าที่กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หนองปรู ต.หนองจะบก และสำนักการสาธารณสุข เทศบาลนครนครราชสีมา ลงพื้นที่สอบสวนโรคพบข้อมูลย้อนแย้งกันเอง

 

คลัสเตอร์เร่ขายนมเปรี้ยวที่โคราช

โดยผู้ป่วยยืนยันได้ทำงานตามปกติ แต่บริษัทระบุไม่ได้มาทำงานตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา ต่อมาวันที่ 17 พ.ย. บริษัทได้แจ้งตรวจโควิดลูกจ้างจำนวน 16 คน พบติดเชื้อ 7 ราย จากนั้นได้นำบุคคลในครอบครัวซึ่งส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่ร่วมกันที่บ้านเช่าในบ้านหนองกระทุ่ม ม.5 ต.หนองจะบก จำนวน 8 ราย ตรวจหาเชื้อพบผู้ติดเชื้อ 4 ราย

 

จับตาคลัสเตอร์เร่ขายนมเปรี้ยว

 

ประกอบด้วย พ่ออายุ 67 ปี แม่อายุ 65 ปี น้องสาวอายุ 35 ปี และหลานชายอายุ 12 ปี ซึ่งพักอาศัยอยู่กับครอบครัวเขต ต.หนองไผ่ล้อม อ.เมือง ป่วยสะสม 12 ราย สิ่งที่น่ากังวลแม้บริษัทได้ปิดกิจการชั่วคราว แต่มีพลเมืองดีแจ้งเบาะแสทุกวันจะมีลูกจ้างมารับผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวไปเร่ขายร้านอาหารและบริเวณทางแยกในเขตตัวเมือง

ทีมสอบสวนโรคจึงได้ตรวจสอบแต่บริษัทอ้างเป็นลูกจ้างจากพื้นที่อื่นมาช่วยเร่ขายนมชั่วคราว ขณะนี้อยู่ระหว่างลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินตามมาตรการสาธารณสุขและค้นหากลุ่มเสี่ยงที่เป็นลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์นมที่อาจสัมผัสเชื้อกับผู้ป่วย