คืบหน้าอาการ"ลูกช้างป่า"ติดบ่วงดักสัตว์

คืบหน้าอาการ"ลูกช้างป่า"ติดบ่วงดักสัตว์จนขาเกือบขาด และยังมีแผลลักษณะเป็นรูๆที่ขาอีกข้าง ยังระบุไม่ได้ว่าเกิดจากกระสุนปืนหรือไม่

จากกรณีอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ได้รับแจ้งพบลูกช้างบาดเจ็บอยู่ที่บริเวณเขาหินขวาก ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เจ้าหน้าที่จงลงพื้นที่ตรวจสอบ และได้พบลูกช้างป่าอายุประมาณ 3 เดือนถูกบ่วงดักสัตว์รัดที่ขาหน้าขวา มีอาการบาดเจ็บ อยู่ในคูกันช้าง บริเวณบ้านคลองยายไท หมู่ที่ 18 ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี
 

คืบหน้าลูกช้างป่าติดบ่วงดักสัตว์

 

ต่อมาผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา)​ พร้อมด้วย ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า นายพิทักษ์ยิ่งยง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมพู่ ได้เดินทางไปดูอาการของลูกช้าง ก่อนเคลื่อนย้ายลูกช้างมาที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นที่1 (เขาหินขวาก) เพื่อให้สัตวแพทย์ดำเนินการรักษาตามขั้นตอน
 

 

ช่วยลูกช้างป่าติดบ่วงดักสัตว์

กระทั่งล่าสุด วันที่ 29 พ.ย. 2564 มีรายงานความคืบหน้าอาการของลูกช้างติดบ่วงตัวดังกล่าว โดยเพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ว่า 
 

น.ส.สุนิตา วิงวอน นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เปิดเผยเรื่องการช่วยเหลือกรณีลูกช้างป่าว่า การดูแลลูกช้างป่าบาดเจ็บ เพศเมีย อายุประมาณ 3 เดือน ที่ถูกบ่วงรัดข้อเท้าจนเกือบขาด และพบแผลลักษณะเป็นรูเล็กๆ จำนวน 8 รู ที่ต้นขาข้างซ้ายหน้า มีอาการอักเสบบวมนั้น เบื้องต้นลูกช้างยังสามารถลงน้ำหนักที่ขาข้างซ้ายได้ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นแผลจากอาวุธปืนหรือไม่

 

คืบหน้าอาการลูกช้างป่าติดบ่วง

 

ทั้งนี้ตั้งแต่เวลา 18.10 น. ของวันที่ 28 พฤศจิกายน จนถึง เวลา 05.30 วันนี้ (29 พ.ย.64) ลูกช้างกินนมไปทั้งหมด 7 ครั้ง (รวมปริมาณทั้งหมด 3,900 ซีซี) และน้ำปริมาณทั้งหมด 800 ซีซี ยังไม่พบว่าลูกช้างอุจจาระ ปัสสาวะ 1 ครั้งปริมาณ 150 ซีซี 

 

ลูกช้างป่าติดบ่วงดักสัตว์ขาเกือบขาด

 

พฤติกรรมโดยทั่วไปลูกช้างพยายามเข้าหาคน ไม่มีอาการซึม มีการนอนหลับระหว่างกลางคืนเป็นปกติ โดยใช้ผ้าห่มมาคลุมร่างกายช้าง และจุดเตาผิงไฟห่างๆ ช่วยในเรื่องให้ความอบอุ่นกับร่างกายเวลากลางคืน

ทั้งนี้สัตวแพทย์ได้ทำการฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อลดการติดเชื้อจากบาดแผล ฉีดยาลดไข้ ลดอักเสบ และยาป้องกันภาวะเครียด ได้เสริมให้ลูกช้างได้กินน้ำมากขึ้นโดยใส่น้ำในถังให้กินเอง และเพื่อเป็นการผ่อนคลาย ทีมสัตวแพทย์และเจ้าประจำส่วนสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าได้เฝ้าสังเกตอาการ และดูแลลูกช้างอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลอาการต่อไป

 

อัพเดทอาการลูกช้างป่าติดบ่วงดักสัตว์ขาเกือบขาด

 

ขอบคุณ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช