- 28 ธ.ค. 2564
คนไทยอาจต่างออกไป? สาธารณสุขไทย เผยอาการโอมิครอน ของผู้ป่วยในประเทศ พบอาการที่หลอดลมมากกว่าลงปอด แต่ถ้าเข้าสู่ปอดแรงพอๆ กับเดลตา
กำลังระบาดอย่างหนักจริงๆ สำหรับ โอไมครอน โควิดกลายพนะธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน แต่ได้กระจายไปแล้วกว่า 90 ประเทศทั่วโลก และอีก 50 รัฐในอเมริกา และที่ระบาดหนักสุดเป็นที่ทวีปยุโรปที่มีรายงานป่วยเพิ่มขึ้นเกิน 70% ซึ่งก่อนหน้านี้ นักวิจัยชาวอังกฤษได้เปิดเผยถึง 8 อาการใหม่โอไมครอน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวถึง อาการโอไมครอนของผู้ติดเชื้อ พบว่า อาการน้อยจนถึงไม่มีอาการ 90% มีอาการเล็กน้อย 10% อาการมาก 3-4% ขณะที่ โอมิครอนพบอาการที่หลอดลมมากกว่าลงปอด ซึ่งอาการที่พบได้มากคือ ไอ แต่หากลงปอดก็จะมีความรุนแรงเช่นเดียวกับเดลตา
ส่วนการศึกษาจากผู้ติดเชื้อโอมิครอน 41 รายที่เราทำการรักษาอยู่ พบว่า อาการไอ 54% เจ็บคอ 37% ไข้ 29% ปวดกล้ามเนื้อ 15% มีน้ำมูก 12% ปวดศีรษะ 10% หายใจลำบาก 5% และไม่ได้กลิ่น 2% โดยพบอาการไม่ได้กลิ่น พบเพียง 1 ราย ทั้งนี้ สธ.ได้ให้ยาที่มีอยู่คือ ฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 5 วันตามมาตรฐาน ซึ่งพบว่า หากให้ยาตั้งแต่ต้น อาการจะดีขึ้นภาพใน 24 - 72 ชั่วโมง อาการฟื้นกลับมาเป็นปกติได้
ขณะเดียวกัน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ข้อมูลผู้ติดเชื้อ ณ วันที่ 27 ธ.ค.64 ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากอาการโควิด Omicron มักเป็นการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไอ เจ็บคอ ไอแห้ง บางรายพบอาการปอดอักเสบแต่ไม่มาก ซึ่งเกือบทุกประเทศรายงานตรงกันว่า โอมิครอนไม่รุนแรงกว่าเดลต้าแน่ๆ หลายประเทศบอกว่าน้อยกว่าพอสมควร
"ส่วนยารักษา ในประเทศไทยเรายังไม่ได้ขึ้นทะเบียนยาตัวอื่น เพราะบางตัวยาเพิ่งผ่าน อย.สหรัฐอเมริกา เราจึงใช้ฟาวิพิราเวียร์เป็นหลัก หากให้เราใน 3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติ" นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ระบุ
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลของผู้ติดเชื้อโอมิครอนเฉพาะที่พบ 100 รายแรกที่พบในประเทศไทย เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ 99 ราย และติดเชื้อในประเทศ 1 ราย เพศชาย 54 ราย หญิง 45 ราย อายุน้อยที่สุด 8 ปี สูงสุด 77 ปี สัดส่วนผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ 48% มีอาการ 41% และอีก 11% กำลังรวบรวมข้อมูล
"พูดง่ายๆ คือคนไข้ไม่มีอาการเลยครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งมีอาการไม่มาก ซึ่งอยากให้สังเกตว่า 100 รายแรก ไม่มีใครใส่ท่อช่วยหายใจและไม่มีเสียชีวิต แต่มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 7 ราย และเน้นว่าผู้ป่วยทุกรายได้วัคซีนแล้วอย่างน้อย 2 โดส ในจำนวนนี้ 5 รายที่ออกซิเจนไม่แย่ลง คือ ปอดอักเสบน้อย ซึ่งไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ จึงอยากย้ำประชาชนที่รับวัคซีนเข็ม 2 เกิน 3 เดือนแล้ว รีบไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น การฉีดกระตุ้นจะมีผลการป้องกันอาการป่วยจากโอมิครอนได้ดีขึ้น" นพ.สมศักดิ์ กล่าว