"หมอธีระ"บอกทำงานที่บ้านหลังปีใหม่ ต้องระวัง เผย 4 ข้อที่ทำให้ติดโควิด

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุ เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19

"หมอธีระ" ระบุว่า

สิ่งที่ต้องระวังเกี่ยวกับนโยบาย work from home หลังปีใหม่

หากกลุ่มเป้าหมายที่ให้อยู่บ้านนั้นเพิ่งกลับจากการตะลอนท่องเที่ยวเดินทาง และไปสัมผัสกับความเสี่ยงมา

การแพร่เชื้อติดเชื้อในครัวเรือนจะมีโอกาสสูงขึ้นได้ถ้าไม่ระวัง

ดังนั้น ใครที่ผ่านการตะลอนในช่วงสิ้นปีและปีใหม่ โดยไม่ได้ไปกันทุกคนในบ้าน การทำงานอยู่บ้านคงต้องระมัดระวัง ป้องกันสมาชิกในครอบครัวด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง เช่น คนสูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง รวมถึงเด็กเล็ก

เตรียมที่เตรียมทาง เตรียมข้าวของอุปกรณ์จำเป็นไว้ให้พร้อม และหมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการคล้ายหวัด ให้แยกตัวจากสมาชิกในบ้าน ไปตรวจรักษาหรือหากมี ATK ที่บ้านก็ตรวจบ่อยๆ

ส่วนใครที่ไปตะลอนมาทั้งบ้าน ก็หมั่นสังเกตอาการของทุกคนด้วยเช่นกัน

ในเดนมาร์กนั้น เพิ่งมีการวิจัยพบว่า สายพันธุ์เดลต้ามีอัตราการแพร่เชื้อติดเชื้อในครัวเรือนราว 21% ในขณะที่สายพันธุ์ Omicron (โอมิครอน) นั้นมากกว่าเดลต้า โดยมีอัตราการติดเชื้อในครัวเรือนถึง 31%

ทั้งนี้งานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับการระบาดของ Omicron ชี้ให้เห็นว่าการติดเชื้อมักเป็นการติดเชื้อจากนอกบ้านในสัดส่วนที่สูง

หมอธีระ โควิด19

มีคนถามว่า โควิดอยู่ที่ไหนบ้าง?

หนึ่ง อยู่ในคน เช่น โพรงจมูก ลำคอ หลอดลม และปอด นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบในอวัยวะอื่นๆ ด้วย แต่แหล่งที่ไวรัสแบ่งตัวหลักๆ คือ ทางเดินหายใจ

สอง ไวรัสจะออกมาจากคนติดเชื้อ โดยติดมากับละอองฝอยน้ำลาย น้ำมูก หรือตามมือหรืออวัยวะที่ใช้ล้วงแคะแกะเกาตาจมูกปาก ดังนั้นการคลุกคลีใกล้ชิดกัน พูดคุยสนทนาระยะใกล้ เฮฮาปาร์ตี้ร้องเพลงกัน กินดื่มด้วยกัน สัมผัสมือหรือแตะต้องตัวกัน ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อแพร่เชื้อ

สาม ไวรัสจะแขวนลอย ฟุ้งกระจาย อยู่ในอากาศได้หลายชั่วโมง ยิ่งหากเป็นระบบปิด อากาศนิ่ง ไม่ถ่ายเท ระบายอากาศไม่ดี

สี่ ปนเปื้อนอยู่กับสิ่งของต่างๆ ที่ถูกหยิบจับ โดยคนที่ติดเชื้อแล้วไม่ได้ล้างทำความสะอาดมือก่อนจับต้องสิ่งของเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของสาธารณะ ราวบันได ราวจับบนรถโดยสาร ลูกบิดประตู ปุ่มลิฟต์ รถเข็นและตะกร้าใส่ของช็อปปิ้ง อุปกรณ์สำนักงาน สุขภัณฑ์ในสุขาที่ใช้ร่วมกัน ฯลฯ

และที่สำคัญ แอบพ่วงท้ายเป็นข้อคิดคือ โควิดอยู่ที่"นโยบาย"ด้วย ไม่ว่าจะระดับชาติ ระดับพื้นที่ ระดับหน่วยงาน หรือระดับครอบครัวก็ตาม

หมอธีระ โควิด-19