- 10 ม.ค. 2565
สมาคมผู้เสียงสุกรเผยแล้ว โรค ASF ระบาดตั้งแต่ปี 62 ทำแม่หมูหายไปเป็นล้าน เหลือ 500,000 ตัว ลูกสุกร 28 ล้านตัว เหลือ 12-13 ล้านตัว ซึ่งโอกาสที่หมูในประเทศจะเหลือแค่ 20% เป็นไปได้
วันที่ 10 มกราคม 2565 สมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ร่วมประชุมกับนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรจ.นครศรีธรรมราช เกี่ยวกับปัญหาหมูขาดตลาดทำให้ตอนนี้หมูแพงจนประชาชนได้รับผลกระทบ ร้านค้าต้องขึ้นราคาเมนูหมูกันจำนวนมาก
โดย นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยหลังประชุม ที่โรงแรมสการ์เลท จ.นครศรีธรรมราช ว่า 2-3 ปี ที่ผ่านมากำลังการผลิตถดถอยเพราะแม่สุกรได้รับความเสียหายมาก และลูกสุกร ก็หายไปจากการผลิต จึงทำให้สุกรมีจำนวนไม่พอเพียงในการส่งเข้าตลาด ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น ซึ่งปัญหาที่เกิดไม่ใช่เฉพาะภาคใต้แต่เป็นทั้งประเทศ
ทางด้านนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้มีการพูดถึงเรื่องปัญหาโรคระบาด เอเอสเอฟ (โรค ASF) หรือ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งผู้เลี้ยงประสบมาตั้งแต่เดือนเมษายน 62 ทำให้แม่สุกรหายไปจากวงจรจาก 1,100,000 ตัว เหลือ 500,000 ตัว ลูกสุกร 28 ล้านตัว เหลือ 12-13 ล้านตัว ซึ่งโอกาสที่หมูในประเทศจะเหลือแค่ 20% เป็นไปได้ หากเปิดประเทศคงไม่พอแน่นอน
โดยผลการประชุมสรุปว่าาจะไม่ขึ้นราคาสุกรมีชีวิต โดยจะตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน กก.ละ110 บาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เดือดร้อนไปมากกว่านี้ เพราะไม่อยากเป็นโจทย์ของสังคมว่า หมูแพงแล้วไข่แพงไก่แพงตามไปด้วย เพราะสาเหตุมาจากสุกรราคาสูงขึ้น ส่วนปัจจัยที่ 2 คือโรคระบาด คนในวงจรการผลิตก็ได้รับความเสียหาย บางรายต้องเลิกเลี้ยงไป
โอกาสนี้นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้คิดว่าในภาพรวมของการประชุมใหญ่ต้องการให้พี่น้องเกษตรกรกลับมาเลี้ยงสุกรต่อไป ซึ่งคิดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี จึงจะกลับมาปกติ และที่สำคัญต้องไม่ให้ภาครัฐนำสุกรจากต่างประเทศเข้ามา หากนำเข้ามาต้องเปิดเผยจำนวน นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคไม่เดือดร้อน