รบ. ออกแพคเกจช่วยแรงงานอิสระ เกษียณได้บำนาญ-คุ้มครองอุบัติเหตุ

รัฐบาล ออกแพคเกจสร้างความมั่นคงแรงงานอิสระ เชิญชวนสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และออมเงินกับกองทุนการออมแห่งชาติ เกษียณได้บำนาญ คุ้มครองอุบัติเหตุ

วันที่ 18 ม.ค. 65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเชิญชวนผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ประกันตนตามมาตรา 40(1) สมัครออมเงินควบคู่ไปกับ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อเติมเต็มเงินออมและสร้างความมั่นคงทางการเงิน สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างหลักประกันที่มั่นคงในชีวิตของประชากร ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580)

 

รบ. ออกแพคเกจช่วยแรงงานอิสระ เกษียณได้บำนาญ-คุ้มครองอุบัติเหตุ

โดย กอช. ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จัดคู่หูสวัสดิการเพื่อประชาชน เชิญชวนผู้ที่มีสิทธิสมัคร อายุ 15 – 60 ปี และเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40(1) วางแผนเงินออมหลังอายุ 60 ปี ควบคู่กับ กอช. เพียงออมเงินขั้นต่ำ 50 บาท สูงสุด 13,200 บาทต่อปี ทั้งนี้ สมาชิกจะได้สวัสดิการจาก 2 หน่วยงานรวมกัน โดยจะได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลเพิ่มตามช่วงอายุสมาชิก สูงสุด 100% ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีผลตอบแทนเพิ่มเติมจากการลงทุน ซึ่งได้รับความค้ำประกันผลตอบแทน รวมถึงสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีได้เต็มจำนวนเงินออมสะสม และในระหว่างการทำงาน สมาชิกจะได้เงินทดแทนรายได้กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ค่าทำศพจากสำนักงานประกันสังคม และเมื่ออายุหลังอายุ 60 ปี จะได้บำนาญรายเดือนจาก กอช. และได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามเกณฑ์อีกด้วย โดยผู้ที่สนใจสามารถสมัครสมาชิก กอช. มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี ได้แก่ นักเรียน นิสิตและนักศึกษา พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร ผู้ที่ขับรถรับจ้างทั่วไป ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น ซึ่งสามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่แอปพลิเคชัน "กอช." หรือ เว็บไซต์ กอช. www.nsf.or.th หรือสอบถาม สายด่วนเงินออม โทร.02-049-9000

 

รบ. ออกแพคเกจช่วยแรงงานอิสระ เกษียณได้บำนาญ-คุ้มครองอุบัติเหตุ

นอกจากนี้ นางสาวรัชดา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการดูแลและคุ้มครองแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีหลักประกันความมั่นคง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบกว่า 19.6 ล้านคน ให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในการทำงาน หลักประกันทางสังคม ตลอดจนการรวมกลุ่ม รวมตัวในการจัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงานได้