- 23 ม.ค. 2565
เปิดประวัติ โรงเรียนวรรณวิทย์ ใจกลางสุขุมวิท หลังปิดตำนานการเรียนการสอน 76 ปี เคยมีคนมาขอซื้อพันล้านไม่ขาย!
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าใจหายเป็นอย่างมาก เมื่อเฟซบุ๊ก ศิษย์เก่าโรงเรียนวรรณวิทย์ Wannawit School Alumni ได้ออมาแจ้งข่าวเศร้า ประกาศยุติการสอนโรงเรียนวรรณวิทย์ ปิดตำนานโรงเรียนเก่าแก่ใจกลางสุขุมวิท อายุ 76 ปี ซึ่งสาเหตุของการปิดตัวลงของโรงเรียนวรรณวิทย์ เนื่องจากเกิดสภาวะขาดทุนมาตลอดในช่วงหลัง ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้จำนวนนักเรียนลดลงเรื่อย ๆ เพราะผู้ปกครองของนักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้มีฐานะ ได้รับผลกระทบและมีการค้างจ่ายค่าเล่าเรียน
สำหรับ โรงเรียนวรรณวิทย์ ก่อตั้งโดยหม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา หรือที่รู้จักในนาม วรรณสิริ นักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง และแต่งนวนิยายหลายเรื่อง ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยจัดตั้งขึ้นภายในบริเวณที่ท่านพำนักอยู่คือ ซอย 8 ถนนสุขุมวิท โดยมีความมุ่งมั่นที่จะให้เป็นสถานศึกษา ที่ให้ทั้งวิชาความรู้ รวมทั้งอบรมสั่งสอนศีลธรรม จรรยา ขนบประเพณี และพลศึกษาไปด้วย
โรงเรียนวรรณวิทย์ เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2489 ที่เรือนไม้ชั้นเดียวในซอยสมาหาร ถนนนานาใต้ โดยในระยะแรกเริ่มก่อตั้งมีนักเรียนเพียง 7 คนเท่านั้น โดยมีหม่อมผิว เป็นครูใหญ่เอง สั่งสอนอบรมนักเรียนเองด้วย เป็นโรงเรียนที่ไม่เคยเก็บค่าแป๊ะเจี๊ยและแม้ใครค้างค่าเล่าเรียนก็อนุญาตให้สอบไล่ได้
หลังจากนั้นโรงเรียนได้ขยายกิจการขึ้นเรื่อยๆ มีนักเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี และได้เพิ่มชั้นเรียนขึ้นจนถึงชั้นมัธยม 6 ต่อมา หม่อมผิว มีอายุมากขึ้น จึงให้ธิดาคนเล็ก คือ ม.ร.ว.รุจีสมร สุขสวัสดิ์ เป็นผู้จัดการ และครูใหญ่แทน โดยเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2497
ปัจจุบัน โรงเรียนมีพื้นที่ขนาด 3 ไร่ อาคารเรียนเป็นอาคารไม้สองชั้น มีนักเรียนประมาณ 500 คน ทางโรงเรียนคิดค่าเทอมถูกมาก เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่เป็นบุตรหลานของผู้ที่มีรายได้น้อยในละแวกนี้ ทำให้โรงเรียนต้องเผชิญกับสถานการณ์รายได้ไม่พอกับรายจ่าย แต่ ม.ร.ว.รุจีสมร ไม่เคยถอดใจ พร้อมให้นำเงินเดือนของท่านมาต่อลมหายใจให้โรงเรียนและเด็กๆ
นอกจากนี้ ได้มีข่าวออกมาอีกว่า มีผู้ขอซื้อที่ดินไปสร้างเป็นโรงแรมและคอนโดมิเนียม โดยให้ราคาสูงถึงพันล้านบาท ซึ่งทาง ม.ร.ว.รุจีสมร ได้ออกมายืนยันว่า จะไม่ขาย โดยให้เหตุผลว่า เงินกี่ล้านก็ไม่สามารถแลกกับความรักความตั้งใจที่จะให้โรงเรียนแห่งนี้ได้อยู่ต่อ เพื่อสร้างเด็กที่ดีให้กับสังคมต่อไปได้
ขอบคุณภาพจาก ศิษย์เก่าโรงเรียนวรรณวิทย์ Wannawit School Alumni