- 28 ม.ค. 2565
เฉลยแล้ว "หอยแมลงภู่" เต็มหาดสมิหลา ส่งสัญญาณบอกอะไร ศูนย์วิจัยทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยตอนล่าง เผย เป็นกระจายปกติตามฤดูกาลของหอยแมลงภู่ และยังบ่งบอกว่าพื้นที่นั้นมีแหล่งอาหาร คุณภาพน้ำและปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม
จากกรณีชาวเน็ตโพสต์ภาพหอยแมลงภู่เต็มหาดสมิหลา ทำให้หลายๆคนออกมาตั้งข้อสงสัยว่าเป็นปรากฏการณ์บ่งบอกอะไรหรือไม่ ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยตอนล่าง ออกมาเฉลยแล้ว
สมาชิกเฟซบุ๊กโพสต์ภาพหอยแมลงภู่ล้นหาดสมิหลา
ศูนย์วิจัยทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยตอนล่าง เผย เป็นกระจายปกติตามฤดูกาลของหอยแมลงภู่ และยังบ่งบอกว่าพื้นที่นั้นมีแหล่งอาหาร คุณภาพน้ำและปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม
วันที่ 27 มกราคม 2565 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลการแพร่กระจายของหอยแมลงภู่ จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ Hongsanart Prachakittikul ได้โพสในเพจภาพสวยสงขลา ผลการตรวจสอบพบว่าเป็นการแพร่กระจายของหอยแมลงภู่ชนิด Perna viridis (Linnaeus, 1758) ขนาดเล็ก (ความยาวเปลือก 2.2 ซม. ความกว้างเปลือก 1.3 ซม.) อายุเฉลี่ยประมาณ 2 เดือน พบยึดเกาะตามแนวโขดหินในบริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึงช่วงเขตระหว่างศาลาไทยกับเสาหลักศุลกากร (หลังโรงแรมบีพีสมิหลาบีช) คิดเป็นพื้นที่การแพร่กระจายประมาณ 2,217 ตร.ม.
จากกรณีดังกล่าวเป็นการแพร่กระจายปกติตามฤดูกาลของหอยแมลงภู่ในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ทั้งนี้หอยแมลงภู่บริเวณนี้มีการวางไข่ได้ตลอดปีแต่มีช่วงฤดูวางไข่ที่หนาแน่นอยู่ 2 ช่วง คือเดือนมีนาคม-เมษายน และตุลาคม-ธันวาคม และหากพื้นที่นั้นมีแหล่งอาหารพวกแพลงก์ตอนพืช/แพลงก์ตอนสัตว์ที่สมบูรณ์ คุณภาพน้ำและปัจจัยสิ่งแวดล้อมมีความเหมาะสม รวมถึงมีวัตถุที่เหมาะต่อการลงเกาะของตัวอ่อน ก็มีโอกาสพบการแพร่กระจายของหอยแมลงภู่ได้
ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลอยู่ในเกณฑ์ปกติ ความเค็ม 31.16 พีพีที อุณหภูมิ 28.90 องศาเซลเซียส ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ 6.49 มิลลิกรัม/ลิตร ความเป็นกรด-ด่าง 9.02
ขอบคุณ ศูนย์วิจัยทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยตอนล่าง