- 29 ม.ค. 2565
หมอธีระตีแผ่ โอไมครอน BA.2 แพร่ง่ายกว่า แถมหลบภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปเกี่ยวกับความรุนแรงของโรคจาก BA.2
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เตือน โอไมครอน BA.2 แพร่ง่ายกว่า BA.1 แถมหลบภูมิคุ้มกันได้ดี ระบุ
29 มกราคม 2565 ทะลุ 370 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 3,276,708 คน ตายเพิ่ม 9,732 คน รวมแล้วติดไปรวม 370,043,153 คน เสียชีวิตรวม 5,666,788 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา ฝรั่งเศส บราซิล อินเดีย และเยอรมัน
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 85.36 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 79.96
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 50.36 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 32.73 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 11 ใน 20 อันดับแรกของโลก
...อัพเดต Omicron
1. UK HSA เพิ่งออกรายงาน SARS-CoV-2 variants of concern and variants under investigation in England ฉบับที่ 35 เมื่อวานนี้ 28 มกราคม 2565 โดยมีสาระสำคัญดังในตาราง Omicron สายพันธุ์ BA.2 น้้นมีข้อมูลในหลายประเทศ ชี้ให้เห็นว่ามีความสามารถในการแพร่ระบาดมากกว่า Omicron สายพันธุ์เดิม BA.1
ข้อมูลวิชาการปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า BA.2 นั้นมีการดื้อต่อภูมิคุ้มกันไม่มากไปกว่า BA.1 ดังนั้นการขยายวงของการระบาดจึงน่าจะมาจากคุณสมบัติในการแพร่เชื้อโดยตัวไวรัสเอง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปเกี่ยวกับความรุนแรงของโรคจาก โอไมครอน BA.2 และโอกาสการติดเชื้อซ้ำ (reinfection) ว่าจะเหมือนหรือแตกต่างจากสายพันธุ์เดิม
2. Nature ฉบับ 28 มกราคม 2565 มีบทความนำเสนอสมมติฐานเกี่ยวกับจุดกำเนิดของ Omicron คาดว่าอาจเริ่มต้นตั้งแต่กลางปี 2563 โดยอาจมีความเป็นไปได้ที่เกิดการเพาะบ่มของไวรัส SARS-CoV-2 ให้เกิดการกลายพันธุ์จนกลายเป็น Omicron ได้ 3 สมมติฐานคือ
หนึ่ง มีการติดเชื้อกันจากคนสู่คนอย่างเงียบๆ (Silent spread) ในพื้นที่ที่ไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการตรวจคัดกรองโรคและไม่มีการเฝ้าระวังตรวจหาพันธุกรรมของไวรัส
สอง เกิดการติดเชื้อในคนแบบเรื้อรัง (Chronic infection) เช่นในคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในร่างกายผู้ติดเชื้อ
และสาม มีการติดเชื้อในสัตว์ประเภทหนู ซึ่งอาจมีการติดเชื้อจากสิ่งปฏิกูลจากคนที่ติดโควิด แล้วมีการกลายพันธุ์ของไวรัสในหนูจนนำมาสู่การติดสู่คนอีกครั้ง
...สำหรับไทยเรา การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตร ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง จุดเปราะบางที่มีอยู่ตอนนี้คือ กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุม และปริศนาเรื่องภาวะอาการคงค้างอย่าง Long COVID ว่าจะเกิดขึ้นในคนที่ติดเชื้อ Omicron แตกต่างจากสายพันธุ์เดิมหรือไม่
การป้องกันตนเองและครอบครัวให้ไม่ติดเชื้อย่อมปลอดภัยกว่า
ขอบคุณ Thira Woratanarat