- 12 ก.พ. 2565
"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ข้อมูล โควิด-19 โอมิครอน
"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ระบุข้อความว่า
ตายไป 25 คน
อายุ 40-100 ปี
80% เป็นคนสูงอายุ
ราวครึ่งหนึ่งของคนที่เสียชีวิตนั้น พบว่ามีระยะเวลาตั้งแต่ทราบว่าติดเชื้อจนกระทั่งเสียชีวิตเพียง 9 วัน
การป้องกันตัวนั้นสำคัญยิ่งนัก ทั้งต่อตนเองและสมาชิกในครอบครัว
หากติดเชื้อ จะแพร่ไปคนรอบข้างได้ แม้เรารอดแต่อาจทำให้คนอื่นป่วยหรือเสียชีวิตได้
ที่สำคัญคือ จะเกิดภาวะอาการคงค้างระยะยาว หรือ Long COVID ได้ ไม่ว่าจะเพศใดวัยใด และเป็นได้ทั้งในคนที่คิดเชื้อแบบไม่มีอาการ อาการน้อย และอาการมาก
โควิดไม่ใช่หวัดธรรมดา
โควิดไม่กระจอก
Outcomes = Strategy*Capacity* Attitude
...อัพเดตความรู้ Omicron (โอมิครอน)
UK HSA ออกรายงานวิชาการ SARS-CoV-2 variants of concern and
variants under investigation in England ฉบับที่ 36 ล่าสุดเมื่อวานนี้ 11 กุมภาพันธ์ 2565
สาระสำคัญที่ควรรู้มีดังนี้
หนึ่ง การติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron แม้ในผู้ใหญ่จะพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลงราว 50% และความเสี่ยงในการเสียชีวิตลดลงราว 60% เมื่อเทียบกับระลอกเดลต้า
แต่กลับพบว่า "เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี" นั้นมีอัตราการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลไม่แตกต่างจากระลอกเดลต้า
*****เรื่องนี้จึงสำคัญมาก และเน้นย้ำให้ผู้ปกครองดูแลลูกหลานให้ดี******
สอง Omicron สายพันธุ์ BA.2 ที่ระบาดต่อจากสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 ซึ่งครองโลกอยู่ในปัจจุบันนั้น พบว่ามีอัตราการแพร่ระบาดได้เร็วกว่า BA.1
ที่น่าสนใจคือ ค่าเฉลี่ยของระยะเวลาตั้งแต่คนแพร่เชื้อเริ่มมีอาการ จนถึงคนที่รับเชื้อเริ่มมีอาการ (serial interval) ของเชื้อสายพันธุ์ BA.2 นั้นสั้นกว่า BA.1
โดย BA.2 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.27 วัน (ช่วงความเชื่อมั่น 3.09-3.46 วัน) และ BA.1 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.72 วัน (ช่วงความเชื่อมั่น: 3.62-3.80 วัน)
สรุปคือ เชื้อสายพันธุ์ Omicron นั้น หากคนแพร่เชื้อเริ่มมีอาการ แล้วแพร่ให้คนอื่นๆ โดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่รับเชื้อมามักจะเริ่มมีอาการหลังจากนั้นประมาณ 3-4 วัน
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาอาจยาวไปได้ถึง 9 วัน (ดังรูป)
ข้อมูลข้างต้นเป็นประโยชน์สำหรับเราทุกคน เวลามีประวัติไปสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 สามารถใช้เฝ้าระวัง และสังเกตอาการตนเองไปนานราว 10 วันก็จะทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น
...สำหรับไทยเรา
การระบาดยังรุนแรง กระจายไปทั่ว และเป็นขาขึ้น
ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตร
ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า
พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ
เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น
หากไม่สบาย แม้จะอาการเล็กน้อย ควรบอกคนใกล้ชิดและที่ทำงาน หยุดเรียนหยุดงาน ไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
ถัดจากนี้ไปจำนวนคนติดเชื้อที่มากขึ้น ทั้งที่ตรวจ ไม่ได้ตรวจ และไม่อยากตรวจ อาจทำให้เราเห็นปัญหาด้านสังคมมากขึ้นได้ ไม่ใช่เพียงแง่เศรษฐกิจเท่านั้น ดังนั้นหากพอช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ ปัญหาก็น่าจะพอบรรเทาเบาบางลงไปได้บ้างไม่มากก็น้อย