- 17 ก.พ. 2565
นักไวรัสวิทยา คาดโอไมครอน BA.2 ไม่ธรรมดา อีกไม่นานอาจจะเป็นโควิดสายพันธุ์หลักแทนที่ BA.1 และอาจจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Pi ซึ่งเป็นตัวอักษรตัวถัดไป
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 65 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) โดยระบุว่า
อีกไม่นาน BA.2 อาจจะเป็นโควิดสายพันธุ์หลักแทนที่ BA.1 ซึ่งเป็นโอไมครอนสายพันธุ์หลักที่ระบาดเป็นวงกว้างในตอนนี้ ไวรัส BA.2 มีความสามารถในการแพร่กระจายได้ดีกว่า BA.1 ประมาณ 30-40% ความแตกต่างระหว่าง BA.2 กับ BA.1 นอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงบนโปรตีนหนามสไปค์ที่ต่างคนต่างมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะตัวของตัวเองแล้ว เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งอื่นนอกโปรตีนหนามสไปค์อาจมีส่วนทำให้ BA.2 มีคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่า BA.1 งานวิจัยชิ้นล่าสุดจากทีมญี่ปุ่นมีผลการทดลองที่น่าสนใจครับ
1. ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจากอาสาสมัครในญี่ปุ่นเมื่อนำมาทดสอบเปรียบเทียบระหว่างไวรัส BA.1 และ BA.2 พบว่า BA.2 หนีภูมิได้สูงกว่า เช่น ภูมิจาก Moderna ถูก BA.1 หนีได้ 15 เท่า แต่ BA.2 หนีได้ 18 เท่า และ ภูมิจาก AZ ถูก BA.1 หนีได้ 17 เท่า แต่ BA.2 หนีได้ 24 เท่า
2. ที่น่าสนใจคือ ภูมิจากการติดเชื้อ BA.1 มา ดูเหมือนจะถูก BA.2 หนีได้เช่นกัน ทั้งๆที่หลายคนเชื่อว่าไวรัสสองตัวนี้เป็นกลุ่มโอไมครอนเหมือนกัน แต่ความแตกต่างระหว่างสองสายพันธุ์นี้ทำให้ภูมิจาก BA.1 ถูกไวรัส BA.2 หนีได้มากถึง เกือบ 3 เท่า ผลจากหนูทดลองที่ได้รับวัคซีนที่ออกแบบจากสไปค์ของ BA.1 ก็ถูก BA.2 หนีได้มากถึง 6.4 เท่า แสดงว่า โอไมครอน 2 สายพันธุ์นี้อาจจะใช้ทำเป็นวัคซีนแทนกันไม่ได้ซะทีเดียว
3. BA.1 เป็นไวรัสที่ไม่รุนแรงในหนูแฮมสเตอร์ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไวรัสเปลี่ยนไปจนจับโปรตีนตัวรับของสัตว์ทดลองไม่ได้ดี หรือ ไวรัสลดความรุนแรงลงจนติดปอดหนูไม่ได้ดีเหมือนสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ แต่ BA.2 ติดหนูแฮมสเตอร์ได้ดีกว่า BA.1 มาก
ทีมวิจัยเชื่อว่า BA.2 อาจจะไม่ใช่โอไมครอนทั่วไปเหมือน BA.1 ทั้งคุณสมบัติของไวรัสที่แตกต่างกัน และ ความแตกต่างทางการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ไวรัสตัวนี้อาจจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Pi ซึ่งเป็นตัวอักษรตัวถัดไปต่อจากโอไมครอน
ขอบคุณ FB : Anan Jongkaewwattana