- 22 ก.พ. 2565
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา เผยผลวิจัยจากจีน พบว่าในบางรายเมื่อฉีดวัคซีนเข็ม 4 กลับได้ภูมิน้อยกว่าเข็ม 3
วันที่ 22 ก.พ. 2565 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา เผยผลวิจัยจากจีน เรื่องการฉีดวัคซีนเข็ม 4 หรือวัคซีนเข็มกระตุ้น พบว่าคนที่ได้ภูมิเข็ม 4 เยอะ คือคนที่ได้ภูมิเข็ม 3 น้อย แต่ในคนที่ได้รับภูมิเข็ม 3 เยอะแล้ว เข็ม 4 แทบจะไม่ได้เพิ่มหรืออาจะได้น้อยกว่าเข็ม 3 ดังนี้
การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยหลักการคือการปลุกเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เคยรู้จักโปรตีนในวัคซีนเข็มก่อนหน้านี้ให้แบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นเพื่อสร้างแอนติบอดีให้กลับมาสูงกว่า หรือ เท่าๆกับของเดิมที่เคยได้มา
วิธีนี้จึงเป็นวิธีที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อในสภาวะที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายเราลดลงไปถึงระดับที่อาจจะไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ หรือ อาการหลังการติดเชื้อได้ หลักการโดยทั่วๆไปเชื่อว่า การฉีดเข็มกระตุ้นถ้าไม่ขึ้นสูงมากเหมือนที่คิด อย่างน้อยก็ขึ้นบ้างดีกว่าปล่อยให้ภูมิอยู่ในระดับต่ำๆแบบมีความเสี่ยง
วันนี้ผมอ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่มาจากทีมวิจัยในจีน เป็นการศึกษาที่น่าสนใจครับ ทีมวิจัยเก็บตัวอย่างจากอาสาสมัครที่ฉีดวัคซีน Sinopharm ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตายหลักของจีน 3 เข็มไปแล้ว 26 สัปดาห์ และ เปรียบเทียบกับผลของอาสาสมัครกลุ่มเดียวกันหลังฉีดกระตุ้นด้วย Sinopharm เป็นเข็มที่ 4 โดยวัดดูภูมิคุ้มกันที่ 2 สัปดาห์หลังเข็ม 4 ซึ่งเชื่อว่าเป็นเวลาที่ภูมิน่าจะขึ้นสูงสุด ทีมวิจัยพบว่าหลังฉีดเข็ม 3 ไปประมาณ 26 สัปดาห์ภูมิทั้งต่อสายพันธุ์ดั้งเดิม และ โอมิครอนตกลงค่อนข้างไว และ เมื่อได้เข็มกระตุ้นเข็ม 4 ภูมิต่อสายพันธุ์ดั้งเดิมถูกกระตุ้นขึ้นมาจากระดับที่ตกลงไปขึ้นมาได้ 19 เท่า และภูมิต่อโอมิครอนขึ้นมาได้ 2.9 เท่า
ภาพรวมดูไม่มีอะไรที่ผิดปกติ แต่ทีมวิจัยไปสังเกตเห็นอะไรบางอย่างที่น่าสนใจครับ ทีมวิจัยพบว่าคนที่ได้ภูมิกระตุ้นหลังเข็ม 4 ที่สูงขึ้นจะเป็นคนที่มีภูมิที่ต่ำตอนได้เข็ม 3 พูดง่ายๆคือ ใครที่ภูมิขึ้นดีหลังเข็ม 3 มา หลังฉีดเข็มที่ 4 ดูเหมือนภูมิจะไม่ถูกกระตุ้นขึ้นมาเลย บางคนในกลุ่มภูมิสูงหลังเข็ม 3 ได้ภูมิหลังเข็ม 4 น้อยกว่าตอนกระตุ้นเข็ม 3 ถึง 10-100 เท่าก็มี ซึ่งเป็นสิ่งที่เกินคาดครับ ว่าการฉีดเข็มกระตุ้นที่เชื่อว่าอย่างน้อยก็น่าจะกระตุ้นอะไรขึ้นมาบ้างอาจจะไม่ได้ส่งผลตรงไปตรงมาขนาดนั้น
ทีมวิจัยไปสืบหาสาเหตุต่อก็พบว่า การฉีดเข็ม 4 เข้าไป แอนติบอดีที่น่าจะไปจับส่วนสำคัญของหนามสไปค์เพื่อยับยั้งไวรัสจะถูกสร้างน้อยลง โดยเฉพาะแอนติบอดีที่สามารถจับข้ามไปที่โอมิครอนได้ แต่เป็นการกระตุ้นแอนติบอดีตัวอื่นที่ไปจับส่วนที่ไม่จำเป็นทำประโยชน์ไม่ได้ของโปรตีนสไปค์ และ โปรตีนนิวคลีโอแคปซิดซึ่งเป็นโปรตีนของไวรัสที่อยู่ในวัคซีนเชื้อตายเช่นเดียวกัน แอนติบอดีเหล่านี้ช่วยป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ มีเยอะๆก็ไม่ค่อยได้ประโยชน์ การฉีดเข็ม 4 ด้วยวัคซีนเชื้อตายหรือวัคซีนรูปแบบอื่นๆที่ออกแบบจากไวรัสตัวเดิม อาจจะไม่ได้ประโยชน์มากนักต่อการป้องกันเชื้อที่ไม่ตรงกับวัคซีนอย่างโอมิครอนครับ
ขอบคุณ Anan Jongkaewwattana