- 23 ก.พ. 2565
โควิดประเทศไทย ยอดผู้ป่วยขึ้นตามคาดอาจจะเห็นจุดสูงสุดในเร็ววันนี้ คาดไม่เกินต้นเดือนหน้า หมอ"นิธิพัฒน์"โพสต์ให้เตรียมเข้าสู่ยุคหลังโควิด
อัพเดตล่าสุดโควิดวันนี้ ทาง รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดประเทศไทยล่าสุด ผ่านเฟซบุ๊ค "นิธิพัฒน์ เจียรกุล" การเตรียมเข้าสู่ยุคหลังโควิด โอไมครอนติดง่ายแต่ตายยาก ยอดผู้ป่วยในทุกประเภทขึ้นตามคาด จนอาจจะเห็นจุดสูงสุด คาดว่าอาจจะไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนหน้า มีนาคม 2565
เหมือนจะเป็นดังที่โบราณว่า “ปากพระร่วง” ออกรายการทีวีเมื่อคืน วันรุ่งขึ้นคือวันนี้ ยอดผู้ป่วยในทุกประเภทขึ้นตามคาด จนอาจจะเห็นจุดสูงสุดได้ภายในเร็ววันนี้ คาดว่าอาจจะไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนหน้า ในเมื่อคาดว่าสถานการณ์อาจจะไม่เขม็งเกลียวนัก การลดหย่อนมาตรการบางอย่างน่าจะพอทำได้ ควบคู่ไปกับการคงมาตรการส่วนใหญ่ไว้ก่อน
ดังเช่นการปรับระบบ Test & Go ให้สะดวกขึ้นโดยงดการตรวจ RT-PCR ครั้งที่สองไป หรืออาจใช้ ATK แทน เพราะส่วนใหญ่ตั้งแต่เริ่มใช้ใหม่ต้นเดือนนี้เป็นต้นมา โอกาสตรวจเจอในครั้งที่สองน้อย และถ้าเจอก็เกือบจะไม่อยู่ในระยะที่แพร่เชื้อแล้ว แถมที่ตรวจพบนั้นก็มักจะไม่มีอาการหรืออาการน้อย เพดานเงินประกันภัยป่วยโควิดก่อนเข้าประเทศ ก็น่าจะลดลงจากเดิมที่ห้าหมื่นเหรียญลงไปอีกได้มาก
เมื่อวานไปออกหลายสื่อ มีคำถามว่ามองการบริหารจัดการด้านสุขภาพในสถานการณ์โควิดสองปีกว่าของฝ่ายนโยบายอย่างไร ส่วนตัวแล้วแม้จะออกมาติในหลายเรื่อง แต่ก็เป็นการติเพื่อก่อ ถ้าให้คะแนนเต็มสิบผมให้ได้ถึงเจ็ดนะ หักไปหนึ่งคะแนนจากการขาดเอกภาพในการสื่อสารกับประชาชน และอีกครึ่งคะแนนสำหรับทีมงานสื่อสารที่ติดตามช่องทางการสื่อสารในโลกปัจจุบันไม่ทัน และยังยึดติดกับรูปแบบและวิธีคิดเดิมๆ
ถ้าเทียบกันทั้งโลก มีน้อยประเทศที่รัฐบาลดูแลได้ดีในเรื่องการเจ็บป่วยของประชาชนจากโควิด ตั้งแต่ยังไม่เริ่มป่วย การดูแลระหว่างป่วย และการฟื้นฟูสมรรถภาพหลังป่วย มีน้อยประเทศที่เตรียมความพร้อมด้านระบบสุขภาพทั้งเตียง ยา อุปกรณ์ใช้งานทางการแพทย์ ได้เหมาะสมกับฐานะของเรา
แม้บางช่วงอาจจะมีดราม่าเตียงทิพย์ แต่ก็ยังพออภัยกันได้เมื่อได้รับการแก้ไข มีน้อยประเทศที่เตรียมความพร้อมการยืนบนขาของตัวเองด้านวัคซีน ทั้งที่ต้นทุนในประเทศมีจำกัด จะแกว่งไปบ้างก็จากการอ่อนประชาสัมพันธ์ จนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอิทธิพลทางความคิดให้ข้อมูลหลากหลายด้านกับสังคมและเกิดความสับสนกันไปบ้าง ยังดีว่าทุกอย่างค่อยๆ ลงตัวและคลี่คลายไปในทางที่เป็นประโยชน์กับแต่ละฝ่าย
สำหรับการเตรียมเข้าสู่ยุคหลังโควิด ได้พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าโอไมครอนติดง่ายแต่ตายยาก การระมัดระวังตัวควบคู่ไปกับการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ สามารถทำได้ ตราบใดที่ระบบสุขภาพยังรองรับผู้ป่วยหนักได้และยอดผู้เสียชีวิตไม่มากเกินไป การพยายามปรับระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยเข้าสู่สภาพปกติ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้ประชาชนปรับตัวสู่วิถีชีวิตใหม่ด้านสุขภาพได้ดีขึ้น
ดราม่าเรื่อง “การยกเลิก UCEP” ไม่ควรเกิดขึ้นถ้าฝ่ายนโยบายนำเสนอต่อประชาชนให้ชัดเจนว่า รัฐบาลจะยังคงดูแลรักษาด้านสุขภาพของประชาชนเรื่องโควิดต่อไปเป็นอย่างดีตามมาตรฐาน โดยใช้กลไกระบบสุขภาพของประเทศที่มีอยู่เดิมซึ่งได้รับการยอมรับจากสากลว่าอยู่ในเกณฑ์แนวหน้าด้านความคุ้มค่าและการเสมอภาค
UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 เข้าข่ายเป็นโรคฉุกเฉินจนกว่ารัฐบาลจะประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น เพียงแต่ปัจจุบันคนที่เป็นโรคนี้มีไม่ถึง 10% เท่านั้นที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งกองทุน 30 บาท กองทุนสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่แล้ว เพียงแต่ในกรณีที่บุคลากรคัดกรองท่านทางออนไซต์หรือออนโฟนหรือออนไลน์ว่าท่านอาการไม่รุนแรงและไม่มีปัจจัยเสี่ยง สามารถให้การดูแลรักษานอกโรงพยาบาลได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสในคนส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำถ้าท่านได้รับวัคซีนครบแล้ว
แต่เมื่ออาการท่านแย่ลงตามเกณฑ์ที่กำหนดเมื่อไร สามารถเข้ารับบริการในสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งได้ทันที เป็นเรื่องที่สามกองทุนเขาจะไปเคลียร์กับสถานบริการนั้นๆ กันเองเรื่องค่าใช้จ่าย แต่สำหรับคนที่สมัครใจไม่ใช้สิทธิ์ทั้งสามกองทุน ต้องตรวจสอบกับสถานบริการสาธารณสุขที่ท่านจะไปใช้นั้นให้แน่ชัดว่า ประมาณการค่าใช้จ่ายตลอดการรักษาจนหายดีเป็นเท่าไร และสายป่านหรือสิทธิ์คุ้มครองอื่นที่ท่านมีครอบคลุมดีหรือไม่ พูดง่ายๆ ว่าสำหรับโรคโควิด-19 ไม่มีการยกเลิก UCEP อะไรทั้งนั้น ทุกอย่างกำลังจะเดินสู่การปรับฐานระบบการดูแลรักษาให้เข้ากับระบบพื้นฐานที่มีอยู่เดิม โดยรักษามาตรฐานการดูแลรักษาประชาชนไทยยามเจ็บป่วยอย่างคุ้มค่าและเสมอภาคดังเดิม
ขอบคุณ
นิธิพัฒน์ เจียรกุล