- 19 มี.ค. 2565
หมอสมิทธิ์ แจงดราม่าเตือนกู้ภัยคนดัง ไม่ได้จะต่อว่าแต่กลัวส่งผลกับรูปคดี "เกรงว่าสังคมจะไหลไปในทิศทางที่เข้าใจผิดต่อ รูปคดี"
วันที่ 18 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา หมอสมิทธิ์ แจงดราม่าเตือนกู้ภัยคนดัง ไม่ได้จะต่อว่าแต่กลัวส่งผลกับรูปคดี "เกรงว่าสังคมจะไหลไปในทิศทางที่เข้าใจผิดต่อ
รูปคดี"
โดยก่อนหน้านี้ "หมอสมิทธิ์" ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย และหัวหน้าห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงกรณีคดี ดาราสาวแตงโม นิดา พลัดตกเรือ โดยมีการพูดถึงประเด็นที่อาสากู้ภัยคนดังออกมาวินิจฉัยศพแตงโมในทำนองว่า
"เนื่องจากผมมีเพื่อนใน FB เป็นกู้ภัย อยากถามว่าอาสาสมัครกู้ภัยมีจริยธรรมของอาสาสมัครกู้ภัยไหมครับ ผมเห็นอาสาท่านหนึ่งพูดอธิบายวินิจฉัยเกี่ยวกับศพเหมือนอย่างเป็นแพทย์นิติเวช มันทำได้ไหมครับ ถ้าทำไม่ได้ อาสาท่านนั้นจะถูกลงโทษมั้ยครับ" จนทำให้เกิดกระแสไม่เห็นด้วยกับคุณหมอ บอกว่าหากเขาไม่ออกมาพูดตั้งข้อสงสัยประชาชนก็จะไม่รับรู้และคงไม่ได้มีการสืบหาความจริงเรื่องนี้ให้กระจ่าง
ล่าสุด หมอสมิทธิ์ แจงดราม่าเตือนกู้ภัยคนดังจนทัวร์ลง กลัวส่งผลกับรูปคดี ระบุ
ก่อนอื่น ผมขอชี้แจงว่าโพสต์ของผมก่อนหน้านี้ ไม่ได้มีเจตนาต่อว่าหรือโจมตีอาชีพกู้ภัยหรืออาชีพใดๆ แต่ผมโพสต์เพราะเกรงว่าสังคมจะไหลไปในทิศทางที่เข้าใจผิดต่อรูปคดี โดยเรื่องสำคัญที่อยากอธิบายอีกครั้งคือ การที่ผู้ไม่เชี่ยวชาญในทางนิติเวช มาให้ความเห็นทางนิติเวชในสิ่งที่มันเป็นประเด็นในคดี มันทำให้เกิดผลเสียต่อรูปคดีได้
อย่างกรณีเคสนี้ สมมุติว่า (เน้นว่าสมมุติครับ) ถูกฆ่าด้วยวิธีอื่น เช่นเอามีดปักขา แล้วผลักลงน้ำ หมอกับตำรวจสรุปไปทางนั้นแล้ว แต่มีสักคนมาบอกว่ามีรอยช้ำเลือดที่หน้า มีฟันหัก ต้องถูกของแข็งกระแทกใบหน้าแน่ๆ มันเสียรูปคดีเลยนะครับ ฝ่ายตรงข้ามอาจเอาไปใช้อ้างในศาลได้อีก อาจจะอ้างว่าเป็นอุบัติเหตุได้ด้วยซ้ำ เช่น หกล้มแล้วหัวกระแทกจนตกน้ำเอง
ดังนั้นเวลาพูดต้องแยกข้อเท็จจริงกับความเห็นครับ ถ้าบอกเจอตาถลนข้างเดียวแค่นี้ยังพอรับได้ครับ แต่ไม่ควรบอกว่าน่าจะถูกของแข็งกระแทก เพราะศพที่จมน้ำและเริ่มเปลี่ยนแปลงมันทำให้คนที่ไม่เชี่ยวชาญมีความเห็นที่ผิดต่อลักษณะของศพได้ หรือถ้าไม่เห็นอะไรชัดเจน ก็ไม่ควรพูด เช่นฟันหัก ฟันหลอแบบนี้ หรือไปอธิบายบาดแผลแบบนี้ว่าเกิดจากอะไร ของมีคมหรือไม่มีคม ที่เป็นความรู้เฉพาะทางของหมอนิติเวช
อีกข้ออยากให้ทราบว่า ผลทางนิติเวชมันไม่ได้ทำเสร็จได้เร็วขนาดนั้น เราอาจจะบอกได้แค่ผลเบื้องต้นหลังผ่าเสร็จ ซึ่งก็ยังไม่ใช่ข้อสรุป เพราะต้องรอผลการตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ ผลทางพิษวิทยา ผลอื่นๆ ต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะสรุปได้ครับ แล้วตามกฎหมายจริงๆ ได้ถึง 67 วันครับ (ใครมีคนรู้จักหรือญาติที่เสียชีวิตผิดธรรมชาติ ที่ต้องการผลผ่าไปใช้ในด้านต่างๆ ก็อาจจะทราบว่า ผล final มันไม่ได้ทันทีต้องรอเป็นเดือน) อย่าไปคิดว่าเหมือนในหนังหรือซีรี่ย์เลยครับ ดังนั้นอาจจะเห็นว่าหมอที่ผ่าทีมแรกยังไม่แจ้งผลสักที เพราะอาจต้องรอหลายๆอย่างครับ เคสนี้ก็เร็วมากๆแล้วครับ เพราะยังไม่ถึงเดือนเลยก็แจ้งญาติได้แล้ว
อีกข้อคือควรเข้าใจการทำงานของหมอนิติเวชว่าเราอาจไม่ได้ตอบได้ทุกสิ่ง กรณีแผลของศพลอยน้ำนี่ยิ่งตอบยากมากๆ ผมแนบรูปจากหนังสืออังกฤษมาให้ครับ ว่ามันยากมากๆ ในการชันสูตรบาดแผลประเภทนี้ หมอที่ผ่าชันสูตรเคสนี้กลุ่มแรกเลยต้องส่งให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยในการแปลผลด้วยครับ หรือกรณีเคสที่ยากแบบนี้ นิติเวชอาจไม่สามารถระบุพฤติการณ์การตายได้เลย ว่าเป็นอุบัติเหตุหรือฆาตกรรม สังเกตได้จากการแถลงข่าว ที่ระบุได้เพียงว่าไม่มีฟันหักนะ ไม่มีแผลตรงนี้ มีแผลตรงนี้ แค่เท่านั้น ต้องให้ตำรวจไปทำการสอบสวนต่อไป
นอกจากนี้การทำงานของเรายังเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวน เราไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลให้โดยตรงกับสาธารณะได้ เราจะเปิดเผยได้ต่อเมื่อญาติและตำรวจอนุญาตก่อน ถ้าเปิดเผยเองโดนฟ้องร้องได้ เพราะผิดกฎหมายครับ
ปล. ผมไม่คิดจะฟ้องคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้นะครับ แค่อยากให้รู้ว่า การพูดควรระมัดระวังในการพูดสิ่งที่อาจทำให้เสียหายต่อคดีได้ครับ แต่เข้าใจครับว่าบางทีมันมองผิดได้จริงๆ ครับ ไม่คิดว่าตั้งใจโกหกอะไรครับ
ปล.2 ถ้าสิ่งที่ผมพูดเป็นสิ่งที่ถูกตามหลักวิชาการ เป็นการให้ความรู้ทางด้านนิติเวชและการทำงานของแพทย์นิติเวช ผมก็ยังคงโพสเรื่องแนวนี้ต่อไปครับ เพราะผมจะทำหน้าที่ในฐานะนายกสมาคมฯ ให้ดีที่สุดครับ
ขอบคุณ Smith Fa Srisont