หมอเตือนติดโควิด-19 เสี่ยงเจอโรคนี้ แถมมีอาการรุนแรงในช่วงที่ป่วย

ไม่ใช่เล่นๆ หมอธีระ เตือนติดโควิด-19 เสี่ยงเจอโรคนี้ เสี่ยงเจอโรคนี้ทั้งเด็ก-ผู้ใหญ่ แถมมีอาการรุนแรงในช่วงที่ป่วย

เกาะติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น ล่าสุดวันที่ 22 มี.ค. 65 หมอธีระ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เผย ความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานในผู้ป่วยโควิด-19 โดยระบุว่า ทะลุ 471 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,028,639 คน ตายเพิ่ม 3,182 คน รวมแล้วติดไปรวม 471,914,643 คน เสียชีวิตรวม 6,104,215 คน

 

หมอเตือนติดโควิด-19 เสี่ยงเจอโรคนี้ แถมมีอาการรุนแรงในช่วงที่ป่วย

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน เวียดนาม ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.58 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 81.77 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 48.04 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 39.44


สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก
 

อัพเดตล่าสุดเรื่องการเกิดโรคเบาหวานในผู้ป่วย Long COVID


ล่าสุด Xie Y และคณะจากสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารการแพทย์ระดับสากลด้านโรคเบาหวานและโรคต่อมไร้ท่อ The Lancet Diabetes & Endocrinology เมื่อวานนี้ 21 มีนาคม 2565 ศึกษาจากข้อมูลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ระหว่าง 1 มีนาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564 จำนวนถึง 181,280 คน พบว่า หากติดตามไป 12 เดือน คนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน ทุก 1,000 คนจะมีโอกาสเกิดโรคเบาหวานขึ้นใหม่สูงกว่ากลุ่มประชากรที่ไม่ได้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ราว 14 คน (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 12·11–14·84 คน)

 

หมอเตือนติดโควิด-19 เสี่ยงเจอโรคนี้ แถมมีอาการรุนแรงในช่วงที่ป่วย


ประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน พบว่าคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานขึ้นในระยะเวลา 12 เดือน สูงกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ถึง 40% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 36%-44%) ทั้งนี้ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานขึ้นนั้น พบว่าแปรผันไปตามระดับความรุนแรงของการป่วยตอนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ด้วย ยิ่งป่วยรุนแรงความเสี่ยงยิ่งมาก


อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะติดเชื้อแล้วจะรุนแรงหรือไม่รุนแรง ก็มีความเสี่ยงต่อเบาหวานมากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อ ดังนั้นไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด สถานการณ์ไทยเรา การระบาดยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กระจายทั่ว ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตนเองอย่างเป็นกิจวัตร ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน แจ้งคนใกล้ชิดทราบ และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

ใครที่เคยติดเชื้อมาแล้ว โปรดทราบว่ามีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้หากไม่ป้องกันตัว นอกจากนี้ยังควรประเมินสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากผิดปกติ แตกต่างจากอดีต มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงาน ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็คเรื่อง Long COVID จะได้ทำการดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ

 

หมอเตือนติดโควิด-19 เสี่ยงเจอโรคนี้ แถมมีอาการรุนแรงในช่วงที่ป่วย


นอกจากนี้ หมอธีระ ยังระบุอีกว่า กลไกการเกิดโรคเบาหวานหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 หลักฐานจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ชี้ให้เห็นว่า คนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานมากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อ ความเสี่ยงเกิดได้ทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก


กลไกที่ทำให้เกิดเบาหวานนั้นมีการตั้งสมมติฐานหลายประเด็นที่อาจเป็นไปได้ ดังนี้


1. ไวรัส SARS-CoV-2 อาจติดเชื้อและแบ่งตัวในเซลล์ของตับอ่อน และทำลายเซลล์ทั้งประเภท exocrine และ endocrine


2. จากการชันสูตรศพผู้ป่วยที่เสียชีวิตพบว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเบต้าเซลล์ ซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตอินซูลิน โดยกระบวนการเปลี่ยนแปลงนั้นผ่าน eIF2 signaling pathway


3. การทำให้เกิดการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติไป (autonomic dysfunction) 


4. การทำให้เกิดภาวะภูมิต่อต้านตนเอง (induced autoimmunity)


5. การทำให้เกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรัง/ต่อเนื่อง (low grade inflammation) 


คงต้องมีการติดตามผลการศึกษาต่อไปว่า กลไกใดที่จะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดเบาหวานในกลุ่มที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตรนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

 

ขอบคุณ FB : Thira Woratanarat