- 02 เม.ย. 2565
"หมอธีระวัฒน์" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุในหัวข้อ ที่คิดว่าหลายๆคนคงจะสงสัยคือ "เราเลือกที่จะตายได้ไหม?"
"หมอธีระวัฒน์" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ระบุว่า
เราเลือกที่จะตายได้ไหม?
ศ นพ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ประเด็นนี้กลายเป็นหัวข้อขัดแย้งมากมาย จากคนป่วย ครอบครัวซึ่งต้องทนทรมาน รับการรักษา โดยดูไม่มีความหวัง หรือก็ไม่ได้ข้อมูลชัดเจนว่าจะหวังได้หรือไม่ แค่ไหน หรืออย่างไร ที่จะกลับมามีชีวิตอย่างมีคุณภาพบ้าง
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาระที่ต้องแบกรับในการดูแล ผลพวงจากการยื้อชีวิตที่ไร้ความหมาย โดยผู้ป่วยหมดสิ้นถึงคุณภาพชีวิตแล้ว ช้ำทั้งกาย ใจ เสียเงินทอง หมอผู้รักษาเองก็ลำบากเพราะเรียนมาเป็นหมอก็เพื่อช่วย ไม่ใช่วางมือ ปล่อยไปง่ายๆ และการจะสรุปขาว-ดำก็ไม่สามารถทำได้ในทุกกรณี
หมอไม่ได้คิดว่า ฝ่ายใดถูก-ผิดนะครับ แต่น่าจะเป็น การมองคนละมุม โดยที่เกิดตวามบาดหมางก็เกิดจากการที่ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบมองย้อนหลัง ไม่ได้พิจารณา ณ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ช่วงเวลานั้น ที่ต้องมีการตัดสินร่วมกันเป็นประการหนึ่ง
แต่ที่สำคัญกว่านั้นและน่าจะถือเป็นหลักปฏิบัติคือ ในขณะที่ต้องพิจารณาหยุด หรือเดินหน้าต่อ ครอบครัวหรือตัวคนไข้ (ถ้าอยู่ในสภาวะที่รู้ตัว) เกือบจะทั้งหมดตัดสินใจเองไม่ได้ เมื่อถูกถามว่าจะตกลงอย่างไร เพราะเป็นข้อมูลทางการแพทย์ ซับซ้อน หมอต้องจริงใจ และเต็มใจที่จะให้ข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ ขณะนั้น อธิบายแจกแจงความสำเร็จของการรักษา หรือเป็นการแค่ยื้อยุด เกิดความทรมาน แสดงผลที่ได้ตรวจ อธิบายผลการตรวจเป็นภาษาที่คนธรรมดาเข้าใจได้ เป็นการให้ข้อมูล ไม่ใช่ไห้ความหวัง ที่กล่าวมาถึงตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ปัญหาได้หมด
ผู้เขียนเองในฐานะที่เป็นหมอและอยู่ในฐานะที่ต้องตัดสินใจและมีความรับผิดชอบคุณพ่อ คุณแม่ที่อยู่ในระยะที่เรียกว่า “วาระสุดท้าย” และทั้งๆที่รู้และน่าจะเป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่าอะไรควรจะเป็นวาระสุดท้าย และควรหรือไม่ควรที่จะทำอย่างที่ทำไปหรือไม่ และทั้งๆที่รู้อยู่ว่าผลกระทบที่จะตามมานั้นมากมายเพียงใด ยังคงผิดพลาดมาตลอด
พ่อของหมอ เส้นเลือดแตกในสมองขณะอายุได้ 59 ปี อาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แย่ลงอย่างเฉียบพลัน อาการเลวลงในเวลาเพียงชั่วโมงจนไม่รู้ตัว ซีกซ้ายและขวาขยับได้เฉพาะเวลาที่ถูกกระตุ้นโดยเป็นการตอบสนองในสภาพเหยียดเกร็งไม่สามารถปัดป้อง ตอบโต้ได้ อาการที่หมอเห็นขณะนั้น (ซึ่งตัวเองเป็นแค่นักเรียนแพทย์รู้แต่ทฤษฎี) บ่งบอกถึงว่าความเสียหายนั้นได้ลงมาถึงระดับที่เลยก้านสมองส่วนบนจนถึงส่วนกลาง ซึ่งเรามักเรียกว่า เป็นเขตที่เลยที่จะเยียวยาได้
รอบเตียงพ่อขณะนั้นเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาทและสมอง หมอคาดว่าทุกท่านในใจคงจะคิดแบบเดียวกัน แต่ก็ยังหวังว่าจะมีปรากฏการณ์ ปาฎิหารย์ ที่พ่ออาจจะตื่นขึ้น พ่อได้รับความกรุณารักษาพยาบาล ได้รับการผ่าตัดดูดก้อนเลือดออก พ่ออยู่ในห้องไอซียูและโรงพยาบาลต่อกันเป็นเวลา ถ้าจำไม่ผิดคือ 2-3 ปี และในที่สุดกลับมาบ้านมาดูแลกันเองสภาพเป็นเจ้าชายนิทรา ดูเสมือนมีการหลับ-ตื่นลืมตา แต่ไม่มองตาม ไม่มีการเคลื่อนไหวตามสั่ง ต้องดูดเสมหะผ่านรูที่เจาะคอ ให้อาหารทางสายยางและต้องคอยพลิกตัว สภาพเช่นนี้ดำเนินไปเป็นเวลา 9 ปี จนเสียชีวิต
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแพทย์ท่านใดอยากให้เจอ ล้วนมีความตั้งใจบริสุทธิ์ แต่ขณะนั้นไม่มีใครในครอบครัวจะเข้าใจได้จริงๆว่า ภาระดูแลหลังจากที่ผ่านวาระสุดท้ายและกลายเป็นเจ้าชายนิทรานั้นหนักหนาสาหัสเพียงใด เราเป็นครอบครัวระดับปานกลางยังต้องขัดสน คิดถึงคนไข้และครอบครัวทั่วไปจะขนาดไหน
จากพ่อซึ่งป่วยมาถึงแม่ซึ่งสูบบุหรี่ตั้งแต่สาวๆ หยุดสูบ เมื่ออายุ 60 ปี อาการมาโผล่เข้าก็ 10 ปีต่อมาโดยเริ่มปรากฏอาการของโรคปอดเรื้อรัง ถุงลมโป่ง หลอดลมตีบ มีอาการเหนื่อยเวลาเดินไกล จนต่อมาอยู่เฉยๆก็ยังแย่ จนต้องมีออกซิเจนประจำบ้าน อาการเลวลงจนในที่สุดหายใจไม่ได้
แม่ยืนยันเป็นสิบครั้งว่าไม่ต้องการใส่เครื่อง นอนแช่อยู่บนเตียง แต่ถึงเวลานั้น ถามว่าจะต้องการให้สบายโดยให้ยานอนหลับไหม แม่ตอบว่าทำอย่างไรก็ได้ให้หายใจได้ และใส่เครื่องช่วยหายใจ โดยติดอยู่ในเครื่องเป็นเวลานาน จนต้องเจาะคอในที่สุด และลงเอยกลับมาที่บ้านหายใจเอง และเข้าๆออกๆ โรงพยาบาล ด้วยติดเชื้อในปอดบ้างและระบบอื่นๆบ้าง แต่ก็ยังคงพอมีความสุข เจอลูกเจอหลานได้ เลยมาได้อีกสองสามปี มีอาการหอบเหนื่อยหายใจไม่ได้เลยเป็นสัญญาณสุดท้าย และเป็นสิ่งที่แม่ยืนยันและตกลงแล้ว
เมื่อถึงไอซียู แม่บอกแม่อยากอยู่ และคงอยู่ในไอซียูอีกเกือบ 5 ปี ด้วยเครื่องช่วยหายใจตลอด 24 ชั่วโมง ได้อาหารทางสายยาง แต่รู้ตัวดีตลอด ค่าใช้จ่ายแม่ถึงจะพอเบิกจ่ายราชการได้ ก็ยังต้องเสียเพิ่มในจำนวนมากกว่าเงินเดือนที่หมอได้จากราชการ
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า จะมีช่วงเวลาแคบๆน้อยนิดที่ แพทย์อาจจะทำการช่วยเหลือให้กลับมาได้ เป็นโอกาสเดียวที่แพทย์ต้องการทำให้คนไข้ที่อยู่ตรงหน้ากลับมาได้ ส่วนหนึ่งคนไข้ฟื้นคืนชีวิต กลับจากอัมพาต ไม่รู้ตัว แต่ยังคงมีอีกส่วนที่ทำได้ไม่สำเร็จ และตกเป็นสิ่งที่ทุกคนรับรู้ว่าเป็น “ภาระ” ของครอบครัว และสังคม ในช่วงเวลานั้นอาจจะเป็นการยากที่จะอธิบายให้ญาติรับรู้และเข้าใจถึงกระบวนการและผลในขั้นสุดท้าย แต่ต้องให้การรักษาไปเลย และกลับเป็นคำถามคาใจในกรณีที่ทำไม่สำเร็จว่าทำไมต้องทำจนกลายเป็นเจ้าชายเจ้าหญิงนิทราไปได้
คงจะนึกออกนะครับว่า ไม่ว่าคนไข้จะรู้ตัวขณะนั้นหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าจะมีความตั้งใจแน่วแน่ก่อนหน้าเกิดเรื่องหรือไม่ก็ตาม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาขณะนั้นอาจไม่ตรงไปตรงมา เหมือนที่หลายๆคนคิด และพยายามที่จะเป็นข้อบังคับ
ข้อกำหนดในวาระสุดท้าย และสิทธิที่จะตายของตนเอง การกำหนดวาระสุดท้ายฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย ที่สามารถตัดสินได้ มีกฎเกณฑ์ ข้อ 1-2-3 แต่ความจริงแล้วไม่ง่ายที่จะปฏิบัติ
อย่างน้อยก็ตัวผู้เขียนเอง การประกาศวาระสุดท้าย ในช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจสั้นๆ ต้องการความแม่นในการวินิจฉัย ในการประเมิน ถ้าตัดสินใจว่าจะไม่ทำไม่ช่วยต่อไปแล้ว เป็นการตัดสินใจที่จะต้อง 100% แม้แต่คนไข้เองถ้าเลือกที่จะไม่รับการรักษาต่อ แท้จริงเป็นการตัดโอกาสตัวเองหรือเปล่า