เช็กอาการโควิด-19 ลงปอดเป็นยังไง สัญญาณแบบไหนต้องรีบรักษา

เช็กอาการโควิด-19 ลงปอดเบื้องต้น มีอาการเป็นยังไง สัญญาณแบบไหนต้องรีบแจ้งแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็ว

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนสร้างความกังวลให้กับให้ประชาชนจำนวนมาก เพราะถึงแม้ว่าสายพันธุ์โอไมครอน ถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่แสดงอาการน้อย มีลักษณะคล้ายไข้หวัด แต่ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากภูมิคุ้มกันร่างกายของเราแข็งแรงพอจะสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัส และรักษาตัวให้หายได้เอง ทว่าความอันตรายของโควิด-19 อยู่ตรงที่เชื้อไวรัสนี้มีโอกาสลงปอดได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องสังเกตอาการป่วยของตัวเอง เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็ว ทำให้หลายคนสงสัยว่าโควิดลงปอดภายในกี่วัน 

 

เช็กอาการโควิด-19 ลงปอดเป็นยังไง สัญญาณแบบไหนต้องรีบรักษา

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่ามีโอกาสที่เชื้อจะลงปอดและมีอาการปอดอักเสบระยะต้น ในช่วง 5 วันหลังได้รับเชื้อหรือเริ่มมีอาการ และปอดอักเสบระยะที่ 2 จะอยู่ในช่วง 10-15 วัน ซึ่งอาการแสดงที่เป็นสัญญาณว่าเชื้อไวรัสโคโรนาอาจเข้าสู่ปอดแล้ว ดังนี้


1. แน่นหน้าอก
 

2. หายใจลำบาก หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม
 

3. เหนื่อย หอบ แน่นหน้าอก แม้ว่าจะไม่ได้ออกแรงกระทำการใดก็ตาม
 

4. ไข้ขึ้นมากกว่า 37.5°C ขึ้นไป
 

5. มีอาการไอแห้ง หรือไอมีเสมหะ
 

6. การใช้อุปกรณ์วัดค่าออกซิเจนในเลือดบริเวณปลายนิ้ว (Fingertip Pulse Oximeter) ค่าออกซิเจนในเลือดไม่ควรมีระดับต่ำกว่า 95% และควรวัดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
 

7. การวัดค่าออกซิเจนในเลือดทันที หลังจากการลุกนั่งในเวลา 1 นาที หรือการกลั้นหายใจ ในเวลา 10 – 15 วินาที หากมีค่าออกซิเจนในเลือดระดับต่ำกว่า 94%


ทั้งนี้ หากมีอาการที่กล่าวมานี้ควรรีบแจ้งแพทย์โดยเร็ว เพื่อแพทย์จะเอกซเรย์ปอด หรือ CT Scan เพื่อวินิจฉัยภาวะปอดอักเสบก่อนทำการรักษา

 

เช็กอาการโควิด-19 ลงปอดเป็นยังไง สัญญาณแบบไหนต้องรีบรักษา

โควิดลงปอดควรทำอย่างไร
 

เมื่อเชื้อไวรัสโควิดลงปอดในผู้ป่วยที่กำลังรอเข้ารับการรักษา Hospitel หรือผู้ป่วยที่รักษาแบบ Home Isolation  สามารถลดความรุนแรงของอาการได้ด้วยการปฏิบัติดังนี้


1. นอนคว่ำหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงในการที่ปอดถูกกดทับ หรือนอนกึ่งตะแคงกึ่งคว่ำ 45 องศา ในกรณีผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ควรนอนตะแคงไปทางด้านซ้าย เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำหนักของมดลูกไปกดทับเส้นเลือดใหญ่ดำ ส่งผลให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น
 

2. ยืดเหยียดปลายเท้า งอขา ส่งผลให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น และป้องกันการเกิดลิ่มเลือดได้ดี
 

3. ดื่มน้ำให้มากกว่า 2 ลิตร ต่อวัน และรับประทานอาหารให้พออิ่ม ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ควรบริโภคเครื่องดื่มเกลือแร่แทน
 

4. หากมีอาการไข้ขึ้น ให้รับประทานยาพาราเซตามอลเท่านั้นโดยทันที ไม่ควรปล่อยให้ไข้ขึ้นสูงแล้วจึงรับประทานยา ในกรณีผู้ป่วยโรคตับห้ามรับประทานยาพาราเซตามอลโดยเด็ดขาด เป็นอันตรายอาจเกิดอาการตับวาย ควรใช้วิธีการลดไข้ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดตัวเพียงเท่านั้น


5. สำหรับผู้ที่มียาประจำตัวให้รับประทานอย่างสม่ำเสมอ กรณีมีโรคความดันโลหิตสูงควรวัดความดันต่อเนื่อง รวมถึงการเตรียมยาและอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ เช่น ยาลดไข้ และเครื่องวัดค่าออกซิเจนในเลือดบริเวณปลายนิ้ว ควบคู่กับการดูแลรักษาสุขภาพ ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์อย่างใกล้ชิด 
 

6. ควรขับถ่ายด้วยการใช้กระโถน ไม่ควรลุกเดินไปเข้าห้องน้ำ เพราะมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการเป็นลม หมดสติ หัวใจหยุดเต้น จนเสียชีวิตในที่สุด


การรักษาโควิดลงปอด
 

1. การใช้ยาต้านไวรัส ซึ่งยาต้านไวรัสจะเข้าไปฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสโควิด-19 แบ่งตัวเพิ่มเติม และทำลายเซลล์ในอวัยวะต่างๆ อีกทั้งยังมีการใช้ยาต้านไวรัสร่วมกับยาแก้อักเสบ เพื่อลดการอักเสบภายในร่างกาย
 

2. การใช้เครื่องช่วยหายใจ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก โดยเฉพาะบริเวณเนื้อปวดที่ถูกทำลาย หรือปอดมีอาการบวมน้ำ
 

3. การใช้เครื่องปอด - หัวใจเทียมแบบเคลื่อนย้าย (Extracorporeal Membrane Oxygenation) หรือ ECMO ซึ่งเครื่องมือชนิดนี้ สามารถฟอกโลหิตของผู้ป่วยแล้วเติมออกซิเจนเข้าไป ก่อนที่จะคืนกลับเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย

 

ขอบคุณข้อมูล :  โรงพยาบาลเพชรเวช , โรงพยาบาลศิครินทร์