- 06 เม.ย. 2565
"นักกฎหมายชื่อดัง" แนะนักสืบโซเชียลในโลกออนไลน์ โพสต์ "คดีแตงโม" ยังไง...ให้ไม่เสี่ยงคุก ไม่โดนหมายศาล ไม่โดนฟ้อง
จากกรณีการเสียชีวิตแบบผิดปกติของ “แตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์” ดาราสาวชื่อดัง ซึ่งคนทั้งประเทศต่างจับตาถึงความผิดปกติในคดีที่เกิดขึ้นมากมาย ประชาชนเฝ้าติดตามและแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง เหล่านักสืบโซเชียลต่างพากันตรวจสอบขุดคุ้ยและตั้งข้อสังเกตในประเด็นที่ไม่ชอบมาพากล ขณะที่ทั้งนักกฎหมาย ส.ส. ส.ว. และผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ ร่วมกันค้นหาความจริงโดยมิได้นัดหมาย ด้วยหวังจะทวงความยุติธรรมให้แตงโม และสร้างบรรทัดฐานในการทำคดีในอนาคต
และล่าสุดมีนักกฎหมายบางคนออกมาระบุว่า การที่บุคคลซึ่งไมได้เกี่ยวข้องกับคดีแตงโม ได้แสดงความคิดเห็นหรือนำเสนอข้อมูลผ่านโซเชียลโดยไม่มีหลักฐานอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งประเด็นนี้ได้สร้างความหวั่นวิตกให้แก่ชาวโซเชียลอยู่ไม่น้อย เนื่องจากไม่รู้ว่าควรแสดงความเห็นในการติดตามข่าวสารในคดีแตงโม รวมถึงคดีต่างๆ บนหน้าสื่อโซเชียลอย่างไรจึงจะไม่ผิดกฎหมาย?
ทางด้าน ทนายอู๋ "บัญชา สุชญา" เจ้าของเพจทนายอู๋สู้เคียงข้างคุณ ได้ชี้แจงถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นในคดีที่ปรากฏในสื่อโซเชียลต่างๆ ว่า การจะแสดงความคิดเห็นในสื่อโซเชียลอย่างปลอดภัยนั้นต้องพิจารณาหลักๆ 2 ส่วนด้วยกัน คือ
1) หากเป็นการกล่าวพาดพิงคนอื่นทำให้ได้รับความเสียหาย เป็นการให้ร้าย เจาะจงเฉพาะตัวบุคคล โดยคลิปหรือโพสต์ข้อความผ่านสื่อออนไลน์ จะเข้าข่ายข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 แต่หากเป็นการแสดงความคิดเห็นเป็นการตั้งข้อสังเกต โดยตั้งคำถามว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้หรือไม่ ทำอย่างนั้นอย่างนี้หรือเปล่า ไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย
ยกตัวอย่าง คดีการเสียชีวิตของแตงโม-นิดา ถือเป็นเรื่องของอาญาแผ่นดิน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองและศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้นประชาชนและสังคมจึงร่วมกันตรวจสอบโดยการแสดงความเห็น ตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถาม แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหรือเจาะจงไปยังบุคคลใดว่าเป็นผู้กระทำผิดแน่ๆ เพราะจะถือเป็นการหมิ่นประมาท
ทั้งนี้ ความผิดกรณีหมิ่นประมาทนั้นแม้จะไม่มีเจตนาแต่ก็ต้องดูว่าข้อความที่โพสต์เป็นอย่างไร เพราะเวลาคดีขึ้นสู่ศาลจะต้องนำข้อความทั้งหมดให้ศาลพิจารณา โดยหัวใจหลักคือจะไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาทก็ต่อเมื่อต้องไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง แม้แต่กรณีการใช้อักษรย่อที่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นใคร ก็ถือว่ามีความผิด เช่น คดีแตงโม บอกว่านาย บ. ซึ่งอยู่บนเรือ คนทั่วไปก็รู้ได้ว่าหมายถึงใคร
อย่างไรก็ดี มีกรณียกเว้นเช่นกัน เช่น หากตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นที่กระทบต่อสังคมโดยรวม เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่กล่าวหากันเป็นการส่วนตัว ก็ไม่ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท เช่น โพสต์ในทำนองสงสัยว่าตำรวจที่ทำคดีรับเงินหรือเปล่า ถือเป็นการตั้งข้อสังเกตถึงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่ทำหน้าที่เพื่อคนหมู่มาก ไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาท
2) การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) นั้นจะต้องมีเจตนาพิเศษ นั่นคือโดยเจตนาทุจริต หรือเจตนาหลอกลวง ซึ่งคำว่าโดยทุจริตหรือหลอกลวงนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 14(1) ระบุว่า เป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น หากขาดซึ่งเจตนาที่จะหลอกลวง หรือหวังผลประโยชน์ การนำเข้าข้อมูลนั้นก็ไม่มีความผิด แม้ว่าข้อมูลที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์จะเป็นเท็จแต่หากไม่รู้มาก่อนว่าเป็นเท็จและไม่มีเจตนาทุจริตก็ไม่มีความผิด เนื่องจากไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ยกตัวอย่าง คดีการเสียชีวิตของแตงโม ผู้ที่โพสต์หรือแชร์คลิปเกี่ยวกับการตั้งข้อสังเกตต่างๆ ในคดีโดยสุจริต ไม่ได้มีเจตนาหลอกลวง ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ ถือว่าไม่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) เนื่องจากข้อเท็จจริงในคดีแตงโมทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครรู้
ขอบคุณข้อมูล : ทนายอู๋สู้เคียงข้างคุณ