- 15 เม.ย. 2565
เพจหมอเตือน ติดโควิดแต่อาการทั่วไปหายแล้ว ห้ามชะล่าใจ อย่าเข้าใจผิดต่อให้ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีดก็ไม่ต้องกักตัว เพราะคิดว่าเป็นซากเชื้อ
หมอเตือน ติดโควิดแต่อาการทั่วไปหายแล้ว ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีดอย่าคิดว่าซากเชื้อ ยังวางใจไม่ได้แม้แต่เสี้ยวนาทีเดียวกับการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ข้อมูลผู้ติดเชื้อล่าสุดที่ทางสาธารณสุขได้ออกมาแจ้งพบว่า โควิดในไทยวันนี้ (15 เมษายน 2565) มีผล pcr 20,289 ราย atk 9,313 ราย แต่เสียชีวิต นิวไฮ 119 ราย อาการหนัก 2,024 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 872 ราย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดแล้ว อาจจะยังสงสัยว่า ติดโควิดกี่วัน ถึงพ้นระยะแพร่เชื้อ ซึ่งทางเพจคุณหมออั้ม อิราวัต ได้ออกมาเตือนแรงๆ ในกรณีนี้ให้ประชาชนอย่าประมาทว่า "ไม่จริงนะครับที่บอกว่าผู้ติดเชื้อโควิด แต่อาการทั่วไปหายแล้ว ประมาณ 5-7 วัน ต่อให้ ATK ยังเป็น 2 ขีด ก็ไม่ต้องกักตัวให้ใช้ชีวิตปกติได้
อ้างว่าเป็นปกติแล้ว แต่เป็นแค่ซากเชื้อ ไม่ต้องป้องกัน ความคิดนี้ #ผิดมหันต์ ครับ ATK ตรวจซากเชื้อไม่ได้ครับ ขนาด RT-PCR ที่ละเอียดกว่ายังพลาดได้ และมีแค่ RT-PCR ครับที่ตรวจซากเชื้อเจอ (หมายถึงหายแล้ว ยังตรวจ PCR พบได้)
แต่ถ้าตรวจ ATK ยังเป็น 2 ขีด นั่นหมายถึง #ท่านยังมีโอกาสแพร่เชื้อได้ ครับ ไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับว่าคนใกล้ชิดเป็นใครเด็ก คนชรา ผู้มีโรคประจำตัว ยิ่งติดง่าย อย่าเข้าใจจุดนี้ผิด เด็ดขาด! ลองอ่านโพสต์เรื่องนี้ จากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ โรคเฉพาะทางด้านระบบทางเดินหายใจในเด็ก"
ขณะเดียวกันเพจของ นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ก็ได้โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับความต่างของการตรวจแบบ ATK และ RT-PCR ถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมถึงนิยมใช้ ATK มาใช้ประกอบการในการสิ้นสุดการกักตัว
นพ.จิรรุจน์ ได้อธิบายอย่างละเอียดว่า "#ATK กับ #RT_PCR ไม่เหมือนกัน... สั้นๆ รู้ไว้จะได้ใช้ถูกครับ
ATK (UK ใช้คำว่า LFD-Lateral Flow Device ไม่ได้ใช้คำว่า ATK) ส่วนใหญ่ตรวจหาโปรตีน Nucleocapsid ซึ่งอยู่ในตัวไวรัส พบเมื่อมีการแบ่งตัวไวรัส หรือ พบในเซลล์ที่ถูกไวรัสติดเข้าไป ดังนั้น ATK ขึ้น 2 ขีดจึงค่อนข้างแน่ชัดว่า เป็นเชื้อจริงๆ ไม่ใช่ ซากเชื้อ(แบบที่เคยได้ยิน)
RT-PCR คือ การตรวจหาสารพันธุกรรม (gene) ของไวรัส ด้วยกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน มีความไวและความจำเพาะในการบอกว่า "พบเชื้อ-detected" ค่อนข้างสูง... ใช้ดีในการยืนยันการวินิจฉัยโรค
แต่... ในคนที่หายจากอาการของโรคแล้วแม้ผ่านไป 14-28วัน ก็ยังสามารถตรวจพบ สารพันธุกรรมของไวรัส ได้ (หลายคนเรียกว่าซากเชื้อ) แต่ปริมาณจะน้อยมาก (ค่า Ct มากกว่า 30 ขึ้นไป แต่ก็ไม่ได้มี ตัวตัดที่ชัดเจน)
ดังนั้น "เราจึงไม่ใช้ RT-PCRในการตรวจว่าผู้ป่วยหายจากโควิดแล้วหรือยัง " (การใช้ RT-PCR ติดตามการรักษามีที่ใช้โดยเฉพาะบางกรณี แต่ไม่ขอกล่าวถึง) ดังนั้น ปัจจุบัน หลายประเทศ จึงพยายามนำ "ATK-Antigen Test Kit" มาใช้ประกอบการแนะนำในการสิ้นสุดการกักตัว...
เพราะ ถ้าตรวจเจอ ก็ไม่น่าจะเป็นซากเชื้อแบบที่พบใน PCR แปลว่า อาจจะปลอดภัยถ้าจะออกมาภายนอก (หยุดกักตัว) สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ การตรวจทุกชนิด มีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้เสมอ (บวกลวง-ลบลวง) การใช้งานชุดตรวจ จึงต้องทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด...
ต่างประเทศ หลายแห่ง มีการแจก ATK (LFD) ให้ฟรี ก็เพื่อใช้งานอย่างสมเหตุสมผล ก่อประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนประเทศ...และมีแนวทางการใช้งานที่ชัดเจน... คงเหลือบางประเทศ ที่ประชาชนจะอดมื้อกินมื้อ ยังต้องมาเจียดเงินซื้อ ATK ราคาแสนแพง ส่วนของราคาถูกต้องซื้อปริมาณมาก และก็ไม่ง่าย หมดเร็ว บางครั้งต้องแย่งกันเหมือนงานชิงอะไรสักอย่าง....ขอให้ทุกท่านปลอดภัย ครับ"
ข้อมูลจาก อั้ม อิราวัต และ Jiraruj Praise