- 16 เม.ย. 2565
"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ เทียบประสิทธิภาพของ Pfizer/Biontech, Moderna, Sinopharm, และ Sinovac
"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ระบุว่า
...เทียบประสิทธิภาพของ Pfizer/Biontech, Moderna, Sinopharm, และ Sinovac ในสิงคโปร์
Premikha M และคณะ จากสิงคโปร์ เปรียบเทียบอัตราส่วนของอัตราอุบัติการณ์การติดเชื้อโรคโควิด-19 และการป่วยรุนแรง (incidence rate ratio) ในประชากรราว 2.7 ล้านคน ที่ได้รับวัคซีนทั้ง 4 ชนิด ครบ 2 เข็มไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และได้รับเข็มสองไปไม่เกิน 120 วัน
แล้วประเมินดูว่ามีอัตราการเกิดการติดเชื้อ และป่วยรุนแรงมากน้อยเพียงใด ในช่วง 1 ตุลาคมถึง 21 พฤศจิกายน 2564
ทั้งนี้ในกลุ่มประชากรสิงคโปร์ที่ศึกษานั้น ส่วนใหญ่ฉีด Pfizer/Biontech ราว 2,000,000 คน, Moderna ราว 600,000 คน, Sinovac/Coronavac ราว 60,000 คน, Sinopharm ราว 20,000 คน
ผลการศึกษาพบว่า mRNA vaccines (Pfizer/Biontech, Moderna) มีอุบัติการณ์ติดเชื้อน้อยกว่าวัคซีนเชื้อตาย (Sinopharm, Sinovac/Coronavac) อย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนอุบัติการณ์ของการป่วยรุนแรงนั้นพบว่า กลุ่มที่ได้รับวัคซีน Sinovac/Coronavac มีอัตราการป่วยรุนแรงสูงกว่าวัคซีน Pfizer/Biontech 4.59 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 3.25-6.48 เท่า) ในขณะที่ Sinopharm มีอัตราการป่วยรุนแรงไม่แตกต่างจาก Pfizer/Biontech อย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้การศึกษาในสิงคโปร์นั้น ชี้ให้เห็นว่า mRNA vaccines ดูจะมีประสิทธิภาพดีกว่าวัคซีนเชื้อตาย ทั้งในด้านการป้องกันการติดเชื้อและการป้องกันการป่วยรุนแรง
...อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำว่า แม้ฉีดวัคซีนไปแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ ป่วยได้ ตายได้ และหากติดเชื้อ ก็จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาว หรือ Long COVID ที่จะบั่นทอนสมรรถนะการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายระยะยาวทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม
หัวใจสำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตท่ามกลางการระบาดคือ การใส่หน้ากากเสมอ เพราะเป็นปราการด่านสุดท้ายที่จะป้องกันตนเอง
และจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการเว้นระยะห่างจากคนอื่น เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงสถานที่เสี่ยง และเลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น