- 22 เม.ย. 2565
เปิดแผนมาตรการโควิดล่าสุด เริ่ม 1 พ.ค. ที่ปรึกษา ศบค. ชี้ โควิดไทยถึงช่วงขาลงเร็วกว่าที่คาด พร้อมทั้งยังหนุนเปิดประเทศเต็มที่
เปิดมาตรการโควิดล่าสุด เริ่ม 1 พ.ค. ที่ปรึกษา ศบค. ชี้ โควิดไทยถึงช่วงขาลง จากโรคโควิด 19 ที่อยู่คู่คนไทยมากระทั่งเข้าปีที่ 3 ซึ่งข้อมูลผู้ป่วยโควิดล่าสุดในไทยวันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2565 พบว่า ตรวจผู้ป่วยในระบบ PCR พบเชื้อยืนยัน 21,808 ราย ตรวจแบบ ATK พบ 20,635 ราย จากรายงานระบุว่า มีผู้ป่วยอาการหนัก 2,021 ราย ผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 885 ราย และเสียชีวิต 128 ราย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด ที่ปรึกษา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด ได้ระบุถึง โควิดไทยว่าถึงช่วงขาลงเร็วกว่าที่คาด พร้อมทั้งยังหนุนเปิดประเทศเต็มที่ เตรียม 1 พ.ค. 65 เข้าประเทศ แต่ถ้าวัคซีน 3 เข็มแล้ว ตรวจ ATK เองครั้งเดียว ฟื้นเศรษฐกิจ เพราะถ้าช้ากว่านี้ไทยเสียโอกาส แต่ยังยอมรับเป็นห่วงช่วงเปิดเทอม เร่งเด็กฉีดวัคซีน
โดย นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค.ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมศบค.ชุดใหญ่ ว่า ก่อนหน้านี้คาดว่ายอดผู้ป่วยจะเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ แต่ปรากฏว่าประชาชนให้ความร่วมมือดีมาก ตอนนี้จึงต่ำจากที่คาดการณ์ไว้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการตรวจ RT-PCR อยู่ที่ 2.1 หมื่นราย หากรวมกับการตรวจเชื้อแบบ ATK จะอยู่ที่ 4-5 หมื่นราย
ที่ปรึกษา ศบค. ระบุเพิ่มเติมว่า เคยคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้หลายเท่า แต่ปรากฏว่าไม่ขึ้น รวมทั้งเรามีคนไข้อยู่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศเพียง 1.9 แสนราย แสดงว่าอาการของคนไข้ไม่ได้หนัก คนไข้ที่ต้องใช้เตียงผู้ป่วยระดับสีเหลืองและระดับสีแดง รวมกันใช้ไปเพียง 25% ของเตียงทั้งหมด ถือว่าน้อยมาก สรุปว่า คนไข้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ได้มากขึ้น และลดลงด้วย ขณะนี้ผ่านมาแล้ว 1 สัปดาห์หลังจากสงกรานต์ จึงคิดว่าแนวโน้มอยู่ในช่วงขาลง ดีกว่าที่เราคาดการณ์ไว้
นพ.อุดม กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่ยังกังวลเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิต ที่ยังมีตัวเลขประมาณ 120 ราย อยากให้ดูตัวเลขกันใหม่ เพราะหากเทียบกับจำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้าโรงพยาบาล อยู่ที่ 0.29% หากนับผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมดอยู่ที่ 0.67% เมื่อเทียบกับทั่วโลกเรายังต่ำกว่าเขา จึงเป็นช่วงขาลง และลงเร็วกว่าที่เราคิดด้วย แต่ถ้าจะเอาให้ชัวร์ ต้องรอให้ถึงสิ้นเดือนเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วง 14 วันหลังเทศกาลสงกรานต์ ที่พ้นระยะฟักตัว ซึ่งเชื่อว่าตัวเลขไม่น่าจะขึ้นแล้ว
ทั้งนี้ นพ.อุดม ยังบอกว่า เมื่อสถานการณ์โควิดอยู่ในช่วงขาลง ก็ต้องมานึกถึงเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจของเราตอนนี้ฟื้นช้ากว่าประเทศอื่น และถ้าเราช้าไปอีก 1-2 เดือน ถือว่าเสียโอกาส แม้ที่ผ่านมาจะเน้นเรื่องสุขภาพเป็นหลัก แต่ตอนนี้ช่วงที่ไม่ได้มีผู้ป่วยมาก คนไทยก็รู้จักระมัดระวังตัวเอง คิดว่าทุกอย่างต้องผ่อนคลาย เพราะรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว
"เดิมเราตั้งใจว่าจะผ่อนคลายในช่วง มิ.ย. หรือ ก.ค. ผมคิดว่าจะทำให้เสียโอกาส ใจผม วันที่ 1 พ.ค. อยากให้ผ่อนคลายแล้ว และได้คุยกันที่กระทรวงสาธารณสุขมาแล้ว เพียงแต่ไม่กล้าตัดสินว่าจะเลิกตรวจทุกอย่างไปเลย และอยากให้มีการตรวจ ATK สัก 1 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมงเมื่อเดินทางเข้าประเทศ สามารถทำได้เอง ไม่ยุ่งยาก อีกทั้งผู้ที่เดินทางเข้าประเทศมา มีอัตราการติดเชื้อน้อย และแนวโน้มหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการหมดแล้ว แต่ก็ต้องย้ำว่าแม้จะผ่อนคลายประชาชนก็ต้องระวังตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง" นพ.อุดมกล่าว
นพ.อุดม ระบุต่อว่า สิ่งหนึ่งที่กังวลคือเดือนพฤษภาคม จะเปิดเทอม แต่การฉีดวัคซีนในเด็กทำได้เพียงครึ่งหนึ่ง ซึ่งคิดว่าเราไม่ควรมานั่งปิดโรงเรียน ต้องเปิดเรียนแบบปกติ ไม่เช่นนั้นเด็กจะเสียโอกาส เพียงแต่ขอร้องให้ผู้ปกครองพาเด็กไปฉีดวัคซีน เพราะสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้จริง และโรงเรียนต้องพยายามทำ COVID-Free Setting ให้ดีที่สุด
นอกจากนี้ ถ้าจะเปิดทุกอย่าง สิ่งที่กังวลคือคนที่จะเจ็บป่วยรุนแรง แต่ตอนนี้เรามียาตัวใหม่ที่จะได้ผลจริง คือยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพ็กซ์โลวิด ตอนนี้ตนกำลังกระตุ้นให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งนำเข้ามาโดยเร็ว เพราะสามารถช่วยคนในกลุ่ม 608 ดีกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ ตอนนี้อนุมัติหลักการไปแล้ว แต่กระบวนการช้า
ส่วนยาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว Long- Acting Antibody (LAAB) สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงที่ไม่สามารถกระตุ้นภูมิด้วยวัคซีนได้ อยากให้ทำความเข้าใจว่า ใช้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ไม่ได้เข้ามาแทนวัคซีน ไม่คุ้มค่า แต่ได้ประโยชน์ในกลุ่มคนที่กระตุ้นภูมิไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม นพ.อุดม กล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ โดยเริ่มวันที่ 1 พฤษภาคม หากฉีดวัคซีน 3 เข็มจะให้ตรวจ ATK 1 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง กรณีที่ฉีดไม่ครบ 3 เข็ม ให้กักตัว 5 วัน และสังเกตตัวเองต่ออีก 5 วัน ส่วนกรณีที่ไม่ฉีดวัคซีนเลย ให้กักตัว 14 วัน นอกจากนี้จะเสนอที่ประชุมศบค. พิจารณาลด หรือเลิก วงเงินประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย