- 05 พ.ค. 2565
อัจฉริยะ สวนกลับตำรวจ แจ้งความคณะสอบสวนคดีแตงโมยกชุด หลังเพิ่งถูกแจ้งความดูหมิ่นเจ้าพนักงาน เเละความผิดอีกหลายกระทง
คืบหน้าล่าสุดคดีเเตงโม นิดา วันที่ 5 พ.ค.65 ที่ สภ.เมืองหนองคาย นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกลับ ตำรวจพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของ แตงโม นิดา ซึ่ง อัจฉริยะ สวนกลับตำรวจ แจ้งความคณะสอบสวนคดีแตงโมยกชุด
ในฐานความผิด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา เป็นเหตุให้ ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172 และรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 173
นายอัจฉริยะ กล่าวว่า การมาแจ้งความในวันนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2565 ขณะที่ตนเอง มาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ จ.หนองคาย ในช่วงเวลา ประมาณ 22.30 ได้รับทราบข่าวจากเว็บข่าวออนไลน์ แห่งหนึ่งว่า พนักงานสอบสวนชื่อ พ.ต.ท.พชต วงศ์ประยุต ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของ แตงโม ได้มอบรับมอบอำนาจจาก คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ให้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับ ตนเอง ในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
จากกรณีเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2565 ที่ผ่านมา ตนเองได้เปิดแถลงข่าวกรณี แตงโม ตกเรือเสียชีวิต โดยเปิดแถลงข่าวที่ โรงแรมแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี และเนื้อหามีการกล่าวพาดพิงพนักงานสืบสวนสอบสวน พร้อมกันนี้ อัจฉริยะยืนยันว่าข้อความที่ได้แถลงต่อสื่อมวลชน ไปนั้น เป็นความจริง และยังต้องมีการพิสูจน์ในชั้นการพิจารณาของศาล ว่า เป็นข้อมูลที่เป็นเท็จหรือไม่อย่างไร
นอกจากนี้ มองว่า พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.134 วรรคสองที่บัญญัติไว้ว่า “จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำผิดตามข้อหานั้น” จึงจะแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหารับทราบ และวรรคสี่ที่บัญญัติไว้ว่า “พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้”
เห็นชัดได้ว่า การกระทำของ พ.ต.ท.พชต วงศ์ประยุต และคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้มอบอำนาจ ย่อมรู้อย่างชัดแจ้งว่า ข้อมูลที่ได้แถลงข่าวไปนั้นยังไม่มีการพิสูจน์ในชั้นการพิจารณาของศาลว่า เป็นจริงหรือเท็จอย่างไร
พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมเป็น การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา เป็นเหตุให้ ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172 และรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 173 จึงมาแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองหนองคาย เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป