- 08 พ.ค. 2565
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผย อาการลองโควิด Long COVID ฟื้นฟูง่ายๆ ด้วยการออกกำลังกาย 5 สัปดาห์ เช็กวิธีปฏิบัติ
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่อง สร้างความกังวลให้กับให้ประชาชนจำนวนมาก เพราะผู้ป่วยโควิดบางคนรักษาตัวจนหายป่วย แต่ก็มียังภาวะอาการลองโควิด (Long COVID) อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ร่างกายกลับมาไม่เหมือนเดิม พบได้หลากหลายในทุกระบบของร่างกาย ซึ่งพบได้มากถึง 200 อาการ แต่ละคนอาจมีอาการลองโควิดไม่เหมือนกัน อาทิ อ่อนเพลีย หายใจไม่เต็มอิ่ม ทำกิจกรรมปกติได้ลดลง เหนื่อยง่ายขึ้น หรือ ภาวะสมองเสื่อม อาทิเช่น การขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อในสิ่งที่จะทำ ความจำลดลง มีปัญหาการนอนหลับ ความสามารถในการควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมลดลง เป็นต้น
ทั้งนี้ อาการลองโควิด บางอาการจะดีขึ้นภายใน 1-2 เดือน แต่บางอาการอาจใช้เวลากว่า 3 เดือน จึงจะดีขึ้น โดยอาการแตกต่างกันขึ้นอยู่แต่ละบุคคล บางอาการหายได้เร็ว บางอาการอาจหายช้า แต่ก็จะหายได้ในที่สุด หรือในผู้ป่วยบางราย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หลังการติดเชื้อ 1-3 เดือน อาจช่วยให้อาการดีขึ้น
ล่าสุด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้ข้อมูลข้อมูลอ้างอิง จาก อ.พญ.ฑิมภ์พร วิทูรพงศ์ ฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู โดยระบุว่า Long COVID คือ กลุ่มอาการหรือความผิดปกติภายหลังจากที่มีการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งในปัจจุบันมีแนวทางในการฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายได้ ด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายในแต่ละระยะ ดังนี้
สัปดาห์ที่ 1
เตรียมความพร้อมของร่างกาย ควรใช้การเดิน ฝึกการหายใจเข้า-ออก ให้สุดแบบช้า ๆ ให้อยู่ในระดับไม่เหนื่อยหรือเหนื่อยเล็กน้อย
สัปดาห์ที่ 2
ออกกำลังในระดับเบา เช่น การเล่นโยคะเบา ๆ การทำงานบ้านเบา ๆ และเพิ่มระยะเวลาเป็นวันละ 10-15 นาที และให้อยู่ในระดับรู้สึกเหนื่อยเพียงเล็กน้อย
สัปดาห์ที่ 3
ออกกำลังกายในระดับปานกลาง เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่อง เช่น การปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ ๆ เป็นต้น
สัปดาห์ที่ 4
เพิ่มความซับซ้อนในการเคลื่อนไหว เช่น การวิ่งเปลี่ยนทิศทาง การวิ่งไปทางด้านข้าง และสามารถสลับวันในการออกกำลังกายได้เพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลีย
สัปดาห์ที่ 5
ในระยะนี้สามารถกลับไปออกกำลังได้ตามปกติ และสามารถเพิ่มระดับความหนักของการออกกำลังได้เท่าที่สามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยังระบุอีกว่า หากรู้สึกอ่อนเพลีย หรืออ่อนล้าในวันถัดไปแนะนำให้พัก และลดระดับความหนักของการออกกำลังกายลง
ขอบคุณ FB : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย