"หมอธีระ"เปิดข้อมูลวิจัยชัด ลองโควิด เพศไหนมีโอกาสเป็นได้มากกว่ากัน

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความอัพเดท สถานการณ์ "Long COVID"

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ระบุว่า 

...สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 13 ของโลก ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม

ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 16.73% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

"หมอธีระ"เปิดข้อมูลวิจัยชัด ลองโควิด เพศไหนมีโอกาสเป็นได้มากกว่ากัน

...อัพเดต Omircon

ทีมวิจัยจาก Beth Israel Deaconess Medical Center ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการศึกษาลักษณะของ Omicron สายพันธุ์ต่างๆ ตั้งแต่ BA1, BA.2, BA.2.12.1, BA.4 และ BA.5 เปรียบเทียบกับสายพันธุ์ไวรัสดั้งเดิม

ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า สายพันธุ์ Omicron นั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

นอกจากนี้สายพันธุ์ย่อยที่เกิดขึ้นใหม่อย่าง BA.2.12.1, BA.4, BA.5 นั้นสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิมๆ อย่าง BA.1 และ BA.2

...อัพเดต Long COVID

ข้อมูลล่าสุดจาก Patients Diagnosed with Post-COVID Conditions: An Analysis of Private Healthcare Claims Using the Official ICD-10 Diagnostic Code วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 โดย The FAIR Health ประเทศสหรัฐอเมริกา

ศึกษาในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะ Long COVID หรือ Post COVID-19 conditions จำนวน 78,252 คน ในช่วง 1 ตุลาคม 2564 ถึง 31 มกราคม 2565

สาระสำคัญคือ

เป็นเพศหญิง 59.8% และเพศชาย 40.2%

มีผู้ป่วย Long COVID สูงถึง 75.8% ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่ได้รักษาตัวในโรงพยาบาล (ไม่มีอาการหรืออาการน้อย)

โดยหากจำแนกตามเพศ จะพบว่า เพศหญิง 81.6% เพศชาย 61.5% ที่ติดเชื้อแต่ไม่ได้รักษาตัวในโรงพยาบาล

ทั้งนี้ 30.7% ของผู้ป่วย Long COVID นั้นไม่เคยมีโรคประจำตัวใดๆ มาก่อน

อาการ Long COVID ที่พบบ่อยคือ การหายใจที่ผิดปกติ อาการไอ ครั่นเนื้อครั่นตัว และเหนื่อยล้า/อ่อนเพลีย

โดยมีอาการผิดปกติที่พบมากจำเพาะตามช่วงอายุ เช่น MIS-C (ภาวะอักเสบหลายอวัยวะในร่างกาย) ในเด็กเล็กอายุ 0-12 ปี, ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติในคนอายุ 13-22 ปี, ภาวะเครียดและวิตกกังวลในคนอายุ 23-35 ปี, และภาวะความดันโลหิตสูงในคนสูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนติดเชื้อโควิด-19 ประชากรกลุ่มที่ศึกษานี้พบอุบัติการณ์การเกิดภาวะผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อ (myopathies) เพิ่มขึ้น 11.1 เท่า, ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด เพิ่มขึ้น 2.6 เท่า และอาการผิดปกติทางสมองและระบบประสาท และอาการเหนื่อยล้า/อ่อนเพลีย มากขึ้น 2 เท่า

...ผลการศึกษานี้สะท้อนให้เราเห็นความสำคัญของการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ เพราะ Long COVID เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ทุกกลุ่มอาการทั้งไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรงก็ตาม

โควิด...ไม่จบแค่หาย หรือเสียชีวิต แต่ที่จะเป็นปัญหาระยะยาวคือ Long COVID ซึ่งบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะในการใช้ชีวิต และการทำงาน โดยจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่่วย ครอบครัว และประเทศ

"หมอธีระ"เปิดข้อมูลวิจัยชัด ลองโควิด เพศไหนมีโอกาสเป็นได้มากกว่ากัน

ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก