- 29 พ.ค. 2565
ดร.อนันต์ ยกบทความฝีดาษลิง ตั้งข้อสังเกตผู้ป่วยฝีดาษลิงในการระบาดปัจจุบันอาจมีการแสดงออกของอาการแตกต่างไปจากผู้ป่วยฝีดาษลิงที่เคยพบก่อนหน้านี้
ทั่วโลกกำลังจับตาเเละเฝ้าระวังการระบาดของโรคฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร ซึ่งเเม้ว่าในขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง เเต่ก็ต้องเตรียมมาตรการเข้มในการตรวจคัดกรองบุคคลที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ล่าสุดดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊คตั้งข้อสังเกตผู้ป่วยฝีดาษลิงในการระบาดปัจจุบันอาการมีความเเตกต่าง
รายงานผลจากการตรวจหาเชื้อในตัวอย่างที่เก็บจากผู้ป่วยฝีดาษลิงที่เคยพบในอังกฤษ (ตั้งแต่ปี 2018-2021) แต่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างที่ระบาดในปัจจุบัน พบว่า ไวรัสสามารถพบได้ในหลายตัวอย่าง มากน้อยแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ปริมาณไวรัสที่พบได้มากที่สุดคือ ของเหลวจากตุ่มหนอง หรือ แผลบนผิวหนัง ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยแทบทุกคนสามารถตรวจไวรัสพบในตัวอย่างที่เก็บมาจากทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งประกอบด้วยน้ำมูก น้ำลาย โดยปริมาณไวรัสมีมากกว่าที่ตรวจพบในกระแสเลือด และ ในผู้ป่วยบางรายสามารถตรวจเชื้อไวรัสพบได้ในตัวอย่างปัสสาวะด้วยเช่นกัน
ข้อมูลนี้บอกว่า ไวรัสฝีดาษลิงสามารถปลดปล่อยออกมาจากผู้ป่วยได้หลายช่องทาง การสัมผัสโดยตรงกับแผลหรือตุ่มหนองมีความเสี่ยงสูงสุด แต่ การรับเชื้อจากน้ำมูกน้ำลาย ทางเลือด หรือ ทางปัสสาวะในห้องน้ำ ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เป็นข้อมูลให้เราระวังตั้งรับกับไวรัสตัวใหม่นี้นะครับ หน้ากากอนามัยที่กำลังจะถอดกันอาจจะจำเป็นหากฝีดาษลิงเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นนะครับ
บทความสั้นๆเกี่ยวกับ Monkeypox ในวารสาร JAMA ตีพิมพ์ออกมาเมื่อวานนี้มีข้อสังเกตนึงที่น่าสนใจครับ ผู้เชี่ยวชาญที่บอกว่าผู้ป่วยฝีดาษลิงในการระบาดปัจจุบันอาจมีการแสดงออกของอาการแตกต่างไปจากผู้ป่วยฝีดาษลิงที่เคยพบก่อนหน้านี้ ปกติอาการฝีดาษลิงมักจะเริ่มต้นด้วยอาการไข้ หนาวสั่น ต่อมน้ำเหลืองโต ก่อนที่จะมีอาการผื่น และ ตุ่มหนองขึ้นที่ผิวหนัง แต่ ในกรณีที่พบในผู้ป่วยบางรายในการติดเชื้อตอนนี้ ไม่มีอาการอะไรนำมาก่อนที่จะมีอาการขึ้นที่ผิวหนัง คือ ถ้าไม่มีผื่นหรือตุ่มขึ้นก็ไม่รู้ต้วว่าตัวเองติดฝีดาษลิงมา
อีกข้อสังเกตนึงคือ ปกติตุ่มหนองของฝีดาษลิงจะพบที่ศีรษะหรือใบหน้า ก่อนลามลงมาที่ แขน ขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า แต่ เคสที่พบในปัจจุบันดูเหมือนจะแตกต่าง พบตุ่มหนองที่บริเวณใต้ร่มผ้า ก่อนจะลามออกมาให้เห็นที่บริเวณส่วนนอกของร่างกาย ซึ่งอาจจะทำให้สังเกตเห็นได้ยากกว่ากรณีปกติ
ลักษณะที่แตกต่างกันแบบนี้ยังไม่ชัดเจนจากข้อมูลของไวรัส เนื่องจากยังไม่สามารถตอบได้ว่ารหัสบางส่วนของสารพันธกรรมของไวรัสในเคสปัจจุบันที่พบว่าแตกต่างจากไวรัสสายพันธุ์ที่เคยพบระบาดในคน จะเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของไวรัสที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร จำเป็นต้องเก็บข้อมูลหาความสัมพันธ์มากขึ้น