- 26 มิ.ย. 2565
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงข่าวลือพบโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ BA4.5 ในไทย ตรวจสอบพบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข่าวปลอม
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 65 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงถึงกรณีมีข่าวลือพบโควิด-19 โอมิครอน สายพันธุ์ BA4.5 ในประเทศไทย จากการตรวจสอบพบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ
ก่อนหน้านี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 และการกลายพันธุ์ของเชื้อ ว่า ขณะนี้ ร้อยละ 53.79 ยังคงเป็นเชื้อโอมิครอน BA.2 รองลงมา คือ โอมิครอน BA.4/BA.5 ร้อยละ 45.71 และร้อยละ 0.51 เป็นเชื้อโอมิครอน BA.1
โดยข้อมูลระหว่างวันที่ 18-22 มิ.ย. 2565 สุ่มพบสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 ในประเทศไทย จากการตรวจเบื้องต้น 181 ราย ซึ่งมีการตรวจยืนยันด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว (WGS) และรายงานเข้าสู่ระบบฐานกลาง GISAID 81 ราย
ส่วนใหญ่พบผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการสุ่มตัวอย่างมาตรวจมากที่สุด ทำให้จำนวนรวมตั้งแต่ 14 พ.ค. - 22 มิ.ย. พบ BA.4 และ BA.5 ในประเทศไทยแล้ว 214 ราย
ข้อมูลจากผลวิจัยทางห้องปฏิบัติการพบว่า เชื้อ BA.4 และ BA.5 ทำลายปอดและมีอาการปอดอักเสบได้ง่ายขึ้น แต่ข้อมูลทางคลินิกยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ ในหลายประเทศ พบการเพิ่มจำนวนของ BA.5 เพิ่มขึ้น
ส่วนอัตราการแพร่เร็วของสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ข้อมูลที่มีในปัจจุบัน พบชัดเจนว่าสายพันธุ์ดังกล่าวแพร่เร็วกว่าเดิม ประมาณ 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับ BA.2 เป็นการพบในห้องปฏิบัติการ โดยพบอีกว่า แอนตี้บอดี้ทำลายเชื้อ BA. 4 และ BA.5 ได้น้อยลง ส่งผลทำให้ยารักษาบางชนิด ที่ต้องตอบสนองกับยาที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันน้อยลงไปด้วยทั้งนี้ คนที่เคยติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์อื่นก่อนหน้านี้ อาจจะติดเชื้อซ้ำสายพันธุ์ BA .4 และ BA.5 ได้
แต่หากได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นจะทำให้ร่างกายมีภูมิสู้กับเชื้อได้ดีกว่าคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ดังนั้นการมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอยังมีความจำเป็น ช่วยลดความรุนแรงของเชื้อได้ รวมถึงมาตรการการป้องกันตนเองที่เหมาะสม เช่น การสวมหน้ากากในสถานที่แออัด การล้างมือ