- 02 ก.ค. 2565
"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงโควิด-19 ล่าสุดในไ
"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ระบุว่า
2 กรกฎาคม 2565...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 679,640 คน ตายเพิ่ม 1,192 คน รวมแล้วติดไป 553,422,447 คน เสียชีวิตรวม 6,359,423 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อิตาลี บราซิล สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 65.12 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 48.07
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 13 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...วันที่ 2 ของการเป็นดินแดนแห่งโรคชุกชุม
ชัดเจนว่าสถานการณ์จริงรอบตัวเรา พบเห็นชัดเจนว่าเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนมากมาย ทั้งก้อนเล็ก ก้อนใหญ่ ทั้งในสถานพยาบาล สถานศึกษา ที่ทำงานอื่นๆ รวมถึงครอบครัว และหมู่เพื่อนฝูง
การขาด"คันฉ่องส่องสถานการณ์" หรือมีแต่คันฉ่องฝุ่นจับและบิดเบี้ยว จนสะท้อนให้เห็นอะไรไม่ได้ ก็จะทำให้ยากที่จะทำให้คนในสังคมตระหนัก รับรู้ รู้เท่าทันสถานการณ์ และจะส่งผลต่อการประพฤติปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตนเองและคนใกล้ชิด
เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทางองค์การอนามัยโลกพยายามเน้นย้ำตลอดมา ให้ทุกประเทศมีการดำเนินระบบเฝ้าระวังที่เข้มข้น มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การติดตามสถานการณ์ ทำการตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่องและมากพอ รวมถึงการรายงานข้อมูล
...อัพเดตวัคซีนเข็มกระตุ้นครั้งที่ 2 (เข็ม 4) ของคนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
ข้อมูลล่าสุดจาก US CDC ที่ทำการประเมินผลตั้งแต่ 27 มีนาคม 2565 ถึง 30 เมษายน 2565 ชี้ให้เห็นว่า
1. กลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หากติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นครั้งที่ 2 (เข็มสี่) ถึง 42 เท่า
2. กลุ่มคนที่ได้วัคซีนจนถึงเข็มสาม หากติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มคนที่ได้วัคซีนเข็มสี่ ถึง 4 เท่า
ด้วยความรู้ทางการแพทย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้นมีความจำเป็นสำหรับทุกคน เพราะการระบาดในปัจจุบันรุนแรงมากขึ้นในกว่าร้อยประเทศทั่วโลก และเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.5 ที่มีการแพร่เร็วขึ้น ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้น ทั้งภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีน จากการติดเชื้อมาก่อน และดื้อต่อยาแอนติบอดี้ที่ใช้รักษาหลายชนิด
เข็มกระตุ้นครั้งที่ 1 หรือเข็มสามนั้น ควรได้รับทุกคน ในขณะที่เข็มกระตุ้นครั้งที่ 2 หรือเข็มสี่นั้น คนที่ควรไปรับได้แก่ คนสูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมถึงคนที่มีความเสี่ยงสูงในชีวิตประจำวัน เช่น มีอาชีพที่ต้องบริการ ดูแล พบปะคนจำนวนมาก
เหนืออื่นใด การฉีดวัคซีนนั้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรงและเสียชีวิต แต่หากไม่ป้องกันตัวให้ดี ก็จะติดเชื้อได้ ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อการเป็น Long COVID ด้วย
ติดเชื้อซ้ำจะมีโอกาสป่วยรุนแรงมากขึ้น 3 เท่า และเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากขึ้น 2 เท่า
"การใส่หน้ากากเสมอ" ระหว่างที่ออกมาตะลอนนอกบ้าน ใช้ให้คุ้นชิน เป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกาย จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อไปได้มาก
ขอย้ำว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน การใส่หน้ากาก เป็นเรื่องจำเป็นครับ