- 06 ก.ค. 2565
แผ่นดินไหวอันดามัน 3 วัน 30 ครั้ง ปชช.หวั่นใจ ทุ่นเตือนสึนามิเสีย ล่าสุดรู้สาเหตุแล้ว แต่บอกเลยถ้าเกิดกลางคืนก็ตัวใครตัวมัน
สืบเนื่องจากที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 4-5 กรกฎาคม 2565 มีการเกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะอันดามัน ประเทศอินเดีย ขนาด 4.0-4.9 ศูนย์กลางห่างจาก จ.ภูเก็ต ประมาณ 400-500 กิโลเมตร โดยรวมแล้วเกิดแผ่นดินไหวไม่ต่ำกว่า 30 ครั้งในรอบ 2 วัน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต รู้สึกหวาดผวา หวั่นว่าจะเกิดสึนามิ แต่ก็ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก
ด้านนายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) รายงานว่า เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.5-5.4 จำนวน 25 ครั้ง ต่อเนื่องกันมา ถือว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดค่อนข้างเล็กจนถึงปานกลาง ไม่มีแผ่นดินไหวหลัก ทุ่นเตือนสึนามิเสีย
ส่วนจุดศูนย์กลางอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 530 กิโลเมตร ห่างจาก จ.พังงา ซึ่งสาเหตุที่เกิดแผ่นดินไหวคือ พฤติกรรมการเคลื่อนตัวของแมกม่าใต้พื้นท้องทะเล บริเวณ Andaman spreading ridge ตอนนี้ยังไม่มีรายงานความเสียหาย ไม่มีเตือนภัยสึนามิ และไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย คาดว่าจะเกิดแผ่นดินไหวลักษณะนี้ต่อเนื่อง 4-5 วัน สาเหตุทุ่นเตือนสึนามิเสีย
โดยสามาเหตุที่ไม่มีเตือนภัยสึนามินั่นก็เพราะว่า ทุ่นเตือนสึนามิฝั่งไทยเสียไป 2 ตัว ทั้งที่ปักอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ทำให้ประชาชนหวั่นใจ กลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอยปี 2547 ซึ่งรายงานระบุเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่เฉพาะฝั่งไทยที่เสีย เพราะฝั่งอินเดีย 5 ทุ่นก็เสียเหมือนกัน
ทั้งนี้ กรมบรรเทาสาธารณภัย จ.ภูเก็ต ชี้แจงว่า แผ่นดินไหวที่เกิดมีความแรง 4.5 ไม่ส่งกระทบต่อไทย ซึ่งทางเราก็เฝ้าระวังมาตลอด ยืนยันมีความพร้อมจัดการเรื่องดังกล่าว มีหอเตือนภัย 19 หอ มีการทดสอบสัญญาณทุกวันพุธ ถ้าหากเกิดเหตุจะเตือนสัญญาณรอบเกาะทันที ส่วน จ.พังงา กับ จ.สตูล ก็มีการสั่งเตรียมพร้อมรับมือเรื่องนี้เอาไว้แล้ว
นอกจากนี้ นายเสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชี้แจงเรื่องโอกาสเกิดสึนามิว่า 1. แผ่นดินไหวที่จะทำให้เกิดสึนามิตามมาคือมากกว่าขนาด 7.5 Mw
2. การเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กหลายครั้ง อาจตามมาด้วยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้
3. แผ่นดินไหวทุกครั้งไม่จำเป็นต้องเกิดสึนามิทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับขนาด ความลึก แนวรอยเลื่อน และลักษณะการมุดตัว
4. แม้ว่าแผ่นดินไหวจะคาดการณ์ เตือนภัยไม่ได้ แต่เราสามารถคาดการณ์ เตือนภัยสึนามิได้
5. ระบบเตือนภัยสึนามิโดยใช้ทุ่น มักได้รับความเสียหายบ่อย จึงไม่ใช่ทางออก
6. ดังนั้นระบบคาดการณ์และเตือนภัยโดยใช้ฐานข้อมูล จึงมีความจำเป็น โดยศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภัยพิบัติ ใช้ระบบนี้เฝ้าระวัง (แต่เราเฝ้าระวังเฉพาะเวลาทำงาน 08.00-17.00) หากเกิดกลางคืน ตัวใครตัวมันนะครับ
7. ถ้าหากรู้สึกแผ่นดินไหวริมชายฝั่งทะเล ให้รีบขึ้นที่สูง แล้วท่านจะปลอดภัย
ล่าสุด เฟซบุ๊ก ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.ภูเก็ต (ภาคประชาชน) รายงานว่า เวลา 07.26 น. ที่ผ่านมา เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 4.9 ความลึก 10 กิโลเมตร นอกชายฝั่งหมู่เกาะนิโคบาร์ ห่างจากจังหวัดภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 530 กิโลเมตร นับเป็นรอบที่ 32 แล้ว
ภาพจาก เฟซบุ๊ก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ และ ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.ภูเก็ต (ภาคประชาชน)
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline