- 14 ก.ค. 2565
ราชกิจจาฯ ประกาศกฎ "ยึดใบขับขี่" ระวังหากขับรถก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง หรือมีอาการป่วยที่ส่งผลต่อการขับขี่และอื่นๆตามประกาศ
ราชกิจจาฯ ประกาศกฎ "ยึดใบขับขี่" ระวังหากขับรถก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง และกฎข้ออื่นๆ ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้ โดยมีผลบังคับใช้หลังราชกิจจาฯประกาศนับไปอีก ๖ เดือน นับจากนี้ โดยประกาศลงเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาแล้ว
เมื่อวันที่ ๑๒ ก.ค.ที่ผ่านมา "ราชกิจจานุเบกษา" เผยแพร่ ระเบียบ ว่าด้วยการยึดใบอนุญาตขับขี่ การบันทึกการยึดใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และระงับการใช้รถเป็นการชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยเป็นการลงนามร่วม ระหว่าง พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้มีผลบังคับใช้ เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือ ๖ เดือนนับจากนี้
เนื้อหาของระเบียบฉบับดังกล่าวมีความน่าสนใจว่า โดยที่เป็นการสมควรกำหนดระเบียบว่าด้วยการยึดใบอนุญาตขับขี่ การบันทึกการยึดใบอนุญาตขับขี่ ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และระงับการใช้รถเป็นการชั่วคราว หากเจ้าพนักงานจราจรเห็นว่า ผู้ขับขี่ผู้นั้นอยู่ในสภาพที่หากให้ขับรถต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเอง หรือผู้อื่น เพื่อประโยชน์ในการควบคุมวินัยจราจรของผู้ขับขี่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ แก่ความปลอดภัยสาธารณะและสวัสดิภาพของประชาชน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๔๐/๒ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๖๒ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอธิบดีกรมการขนส่งทางบก จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบว่าด้วยการยึดใบอนุญาตขับขี่ การบันทึกการยึด ใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และระงับการใช้รถเป็นการชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๖๕"
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้ "สภาพที่หากให้ขับรถต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น" หมายความว่า สภาพของร่างกาย จิตใจ พฤติกรรม มีปัญหาการตัดสินใจ หรือมีกรณีอื่น ๆ ที่เห็นได้ว่า ทำให้บุคคลนั้น ซึ่งหากให้ขับรถต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น
(๑) มีสภาพร่างกาย มีอาการป่วยด้วยโรคหรือสภาวะของโรคที่ส่งผลต่อความสามารถ ในการขับรถในขณะนั้น ได้แก่ มีอาการง่วงนอน อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ลมชัก ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำ แต่ไม่ถึงกับเป็นความผิดตามมาตรา ๔๓
(๑) หรือมีอาการอันเนื่องมาจากการดื่มสุรา หรือของเมาอย่างอื่น แต่ไม่ถึงกับเป็นความผิดตามมาตรา ๔๓ (๒) เป็นต้น
(๒) มีสภาพจิตใจ หรือภาวะทางอารมณ์แปรปรวนที่ส่งผลต่อความสามารถในการขับรถ ในขณะนั้น เช่น ก้าวร้าว อารมณ์ร้าย แสดงอารมณ์ใส่ผู้อื่นอย่างรุนแรง
(๓) มีพฤติกรรมที่ส่งผลต่อความสามารถหรือทักษะในการขับรถในขณะนั้น
ข้อ ๔ ในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจรได้ว่ากล่าวตักเตือนหรือออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ตามมาตรา ๑๔๐ แล้ว หากเจ้าพนักงานจราจรเห็นว่า ผู้นั้นอยู่ในสภาพที่หากให้ขับรถต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น ให้เจ้าพนักงานจราจรเรียกดูใบอนุญาตขับขี่ หากผู้ขับขี่มีใบอนุญาต ขับขี่อยู่กับตัว ให้เจ้าพนักงานจราจรที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจยึดใบอนุญาตขับขี่ หรือบันทึกการยึดใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลนั้น เพื่อมิให้ผู้นั้นขับรถ ต่อไปอีก การยึดใบอนุญาตขับขี่ บันทึกการยึดใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นไปตามแบบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดท้ายระเบียบนี้
ข้อ ๕ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ขับขี่อยู่ในสภาพที่สามารถขับรถต่อไปได้หรือเมื่อเจ้าพนักงานจราจร แน่ใจว่าผู้ขับขี่จะไม่ขับรถในขณะที่อยู่ในสภาพที่หากให้ขับรถต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น ให้เจ้าพนักงานจราจรคืนใบอนุญาตขับขี่ หรือยกเลิกการบันทึก การยึดใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การคืนใบอนุญาตขับขี่ การยกเลิกการบันทึกการยึดใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นไปตามแบบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดท้ายระเบียบนี้
ข้อ ๖ ในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจรได้ว่ากล่าวตักเตือนหรือออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ตามมาตรา ๑๔๐ แล้ว หากเจ้าพนักงานจราจรเห็นว่า ผู้นั้นอยู่ในสภาพที่หากให้ขับรถต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น หากเจ้าพนักงานจราจรไม่อาจยึดใบอนุญาตขับขี่หรือบันทึกการยึด ใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลนั้นได้ ให้เจ้าพนักงานจราจรที่มียศตั้งแต่ ร้อยตำรวจตรีขึ้นไปมีอำนาจระงับการใช้รถเป็นการชั่วคราวเพื่อมิให้ผู้นั้นขับรถ ให้เจ้าพนักงานจราจรตามวรรคหนึ่งยอมให้ผู้ขับขี่ขับรถได้เมื่อผู้ขับขี่นั้นอยู่ในสภาพที่สามารถ ขับรถต่อไปได้ หรือเมื่อเจ้าพนักงานจราจรแน่ใจว่าผู้ขับขี่จะไม่ขับรถในขณะที่อยู่ในสภาพดังกล่าว ก็ให้ยกเลิกการระงับการใช้รถเป็นการชั่วคราว การระงับใช้รถเป็นการชั่วคราวเพื่อไม่ให้ผู้นั้นขับรถและยกเลิกคำสั่งระงับการใช้รถเป็นการชั่วคราว ให้เป็นไปตามแบบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดท้ายระเบียบนี้
ข้อ ๗ เมื่อเจ้าพนักงานจราจรได้ยึดใบอนุญาตขับขี่ บันทึกการยึดใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการ ทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือระงับการใช้รถเป็นการชั่วคราวแล้ว เพื่อประโยชน์ในการรักษา ความปลอดภัยแก่ชีวิตและร่างกายของผู้ขับขี่ ให้เจ้าพนักงานจราจรดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
(๑) จัดให้มีการส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังสถานพยาบาล หรือสถานที่ปลอดภัยและเหมาะสมตามควร แห่งกรณี
(๒) แจ้งญาติหรือผู้ใกล้ชิดเพื่อการดูแลผู้ขับขี่
(๓) ดำเนินการอื่นใดตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แก่ผู้ขับขี่
ข้อ ๘ เมื่อเจ้าพนักงานจราจรได้ระงับการใช้รถเป็นการชั่วคราวแล้ว เพื่อประโยชน์ในการ รักษาความปลอดภัยในทรัพย์สิน ให้เจ้าพนักงานจราจรดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
(๑) แจ้งญาติหรือผู้ซึ่งผู้ขับขี่ไว้วางใจ
(๒) เคลื่อนย้ายรถเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการจราจร
(๓) ดำเนินการอื่นใดตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แก่ผู้ขับขี่และรถ
ข้อ ๙ กรณีที่เจ้าพนักงานจราจรพบว่าผู้ขับรถเป็นเด็กหรือเยาวชน ให้เจ้าพนักงานจราจร รีบแจ้ง แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การที่เด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยในโอกาสแรก เท่าที่สามารถจะทำได้ และให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กและกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
ข้อ ๑๐ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นผู้รักษาการ ตามระเบียบนี้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตนเอง
ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕
พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก
ขอบคุณ ราชกิจจานุเบกษา
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline