- 17 ก.ค. 2565
หมอธีระ เปิดผลการศึกษา Long COVID ภาวะอาการลองโควิด อาการคงค้างที่พบบ่อยนาน 6-12 เดือนหลังจากติดเชื้อโควิด-19
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 หลังจากที่ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิดโอมิครอน หรือ โอไมครอน (Omicron) สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลายราย ทำให้เกิดความกังวลว่าจะมีการระบาดรุนแรงภายในประเทศอีกครั้งหรือไม่ ขณะเดียวกัน ภาวะอาการลองโควิด (Long COVID) อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 ก็ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะทำให้ร่างกายกลับมาไม่เหมือนเดิม พบได้หลากหลายในทุกระบบของร่างกาย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 65 หมอธีระ หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า 17 กรกฎาคม 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 589,541 คน ตายเพิ่ม 683 คน รวมแล้วติดไป 567,004,051 คน เสียชีวิตรวม 6,386,603 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อิตาลี เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 80.69 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 54.17
สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่าจำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
อัพเดต Long COVID
1. Long COVID ในอเมริกา
US CDC ได้ระบุในเว็บไซต์เมื่อ 11 กรกฎาคม 2565 ว่า ผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยรวมนั้นพบว่ามีปัญหา Long COVID ยาวนานตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปราว 13.3% ในขณะที่ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้น จะประสบภาวะ Long COVID ได้มากกว่า 30% เมื่อประเมิน ณ 6 เดือน
2. Long COVID ในเยอรมัน
Bahmer T และคณะ เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารการแพทย์สากล eClinicalMedicine วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ทำการศึกษาในกลุ่มผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในเยอรมัน ตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 ถึงกันยายน 2564 จำนวนกว่าพันคนจาก Kiel และ Würzburg/Berlin โดยใช้แบบประเมินระดับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อ (PCS score) พบว่าอาการคงค้างที่พบบ่อยนาน 6-12 เดือนหลังจากติดเชื้อในกลุ่มผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID ได้แก่ อาการผิดปกติทางระบบประสาท (เช่น ปวดหัว เวียนหัว มึนงง มีปัญหาด้านสมาธิหรือความจำ) (61.5%) อาการเหนื่อยล้า/อ่อนเพลีย (57.1%) และปัญหาในการนอนหลับ (57%)
ผลการวิจัยของเยอรมันนี้ อย่างน้อยก็จะมีประโยชน์ให้เราใช้สังเกตอาการที่พบบ่อยเหล่านี้ ใช้ประเมินตนเองหรือคนใกล้ชิด หากประสบปัญหาติดเชื้อมาก่อน และไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา การใส่หน้ากากระหว่างตะลอนนอกบ้าน พยายามเว้นระยะห่างจากคู่สนทนา เลี่ยงที่แออัดหรืออับลม และการปรับสภาพแวดล้อมให้มีการระบายถ่ายเทอากาศให้ดีขึ้น เช่น เปิดพัดลม เปิดประตูและหน้าต่าง เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราลดความเสี่ยงระหว่างดำเนินชีวิตประจำวัน ทำมาค้าขาย และศึกษาเล่าเรียนได้ เพราะไวรัสจะเปลี่ยนแปลงสมรรถนะของมันไปเรื่อยๆ โดยยังไม่สามารถทำนายการเปลี่ยนแปลงได้แม่นยำ สถานการณ์ระบาดของไทยยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง การป้องกันตัวให้ดีและสม่ำเสมอ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
ขอบคุณ Thira Woratanarat
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline