- 22 ก.ค. 2565
อธิบดีกรมควบคุมโรคตั้งโต๊ะแถลงรายละเอียดหลังพบผู้ป่วยไนจีเรียป่วย "ฝีดาษวานร" รายแรกในไทย จ.ภูเก็ต ติดตามเพื่อนใกล้ชิดเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย เบื้องต้นไม่พบเชื้อ ต้องสังเกตอาการอีก 21 วัน ส่วนผู้ป่วยหลบหนีหรือไม่ ทางคกก.โรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตจะเป็นผู้รายงาน
วันที่ 22 ก.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงข่าวประเด็นสถานการณืโรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ว่า ทางจังหวัดภูเก็ตได้รับรายงานจาก รพ.แห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต พบชายต่างชาติไนจีเรียอายุ 27 ปีมีอาการต้องสงสัยเข้าได้กับฝีดาษลิงหรือวานร เพราะมีตุ่มขึ้นใบหน้า ลำตัว แขนขา อวัยวะเพศ มีการส่งสิ่งส่งตรวจต่างๆไปยังรพ.จุฬาลงกรณ์ พบว่า มีเชื้อฝีดาษวานร อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนเมื่อพบรายแรกๆ จะต้องมีผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ 2 แห่งเพื่อยืนยัน คือ ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันตรงกันเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา จากนี้จะรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยรายนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลคลินิก ระบาดวิทยา เสนอต่อคณะกรรมการวิชาการในพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เพื่อยืนยัน ซึ่งได้ประกาศยืนยันเมื่อวานตอนเย็นที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา จึงได้ออกแถลงข่าวไปก่อนหน้านี้ และแถลงเพิ่มเติมในวันนี้(22 ก.ค.)
"ในกระบวนการยืนยันผู้ป่วยรายแรก จะมีขั้นตอนอยู่หลายประการ ส่วนขั้นตอนการสอบสวนโรค เราไม่ได้รอยืนยันแล้วไปสอบสวน เราทำทันที อย่างกรณีรายนี้ เราไปหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย เป็นเพื่อนกับผู้ป่วย เป็นคนไทย 1 ราย และไนจีเรีย 1 ราย แต่ไม่มีอาการป่วย เมื่อส่งตรวจไม่พบเชื้อ แต่ต้องเฝ้าสังเกตอาการตนเองไป 21 วัน จากนั้นก็ไปค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมยังสถานที่เสี่ยง พบผู้ที่มีอาการไข้ เจ็บคอ จำนวน 6 รายจากการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมจากสถานบันเทิง 2 แห่ง ที่ผู้ป่วยเคยไปใช้บริการ และอีก 4 รายไม่พบการติดเชื้อฝีดาษวานรให้ติดตามสังเกตอาการตนเอง 21 วัน" นพ.โอภาส กล่าว
นอกจากนี้ ยังค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดในโรงแรม และสถานบันเทิงแห่งอื่นๆ เพิ่มเติม รวมทั้งการกำตัดเชื้อในห้องพักคอนโดของผู้ป่วย ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวกับสถานบันเทิง และผู้ใช้บริการ เมื่อถามถึงกรณีมีรายงานผู้ป่วยหลบหนี นพ.โอภาส กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตจะเป็นผู้รายงาน
เมื่อถามว่าผู้ป่วยรายนี้เดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่บินตรงมาลงที่ภูเก็ตหรือเดินทางจาก จังหวัดไหนไปยังภูเก็ต นพ.โอภาสกล่าวว่าเรื่องนี้ขอให้ทางภูเก็ตเป็นผู้ให้รายละเอียดอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคฝีดาษวานร พบว่าความรุนแรงไม่ได้มากนัก การติดต่อไม่ได้รวดเร็ว โดยตั้งแต่ผู้ป่วยยืนยันตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.2565 มีผู้ป่วยยืนยัน 12,608 ราย แต่การกระจายตัวค่อนข้างเยอะประมาณ 66 ประเทศ ซึ่งแตกต่างจากโควิด19 แค่ไม่กี่เดือนพบติดเชื้อหลักล้านคน ทั้งนี้ จะพบฝีดาษลิงมากๆ คือทวีปยุโรป และอเมริกา และเอเชีย มีสิงคโปร์ ไต้หวัน อินเดีย ส่วนประเทศที่พบติดเชื้อมากที่สุด คือ สเปน 2,835 ราย รองลงมาเยอรมนี 1,859 ราย โดยข้อมูลที่พบส่วนใหญ่เป็นชาย สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างผู้ป่วย โดยเฉพาะตุ่ม ฝีหนอง จะพบเชื้อไวรัสจำนวนมาก โดยทั่วไปการติดต่อทางเดินหายใจไม่ใช่ลักษณะเด่นของโรคนี้ แต่จะจากการสัมผัสใกล้ชิด
องค์การอนามัยโลกกำลังประชุมกันอยู่ ต้องติดตามต่อไป แต่มีข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ให้มีการตัดสินใจเกี่ยวกับการรวมกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นชนิดและขนาดไหน โดยใช้แนวทางจากการประเมินความเสี่ยง วางแผนการจัดงานให้ดี และสถานพยาบาลหลายแห่งขอให้รวบรวมข้อมูลผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยยืนยันหรือสงสัย เพื่อส่งต่อข้อมูลไปยัง WHO Global Clinicai Platform ขอย้ำว่า โรคฝีดาษวานร โดยลักษณะไม่ได้รุนแรงสุงมาก ขณะนี้มีสายพันธุ์หลักๆ คือ แอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ที่พบในไทย เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่า
"โรคนี้เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดง่ายๆ ดังนั้น มาตรการที่ใช้ป้องกันโควิด19 ยังใช้ป้องกันฝีดาษวานรได้ คือ Universal Prevention ทั้งล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย หรือผู้มีตุ่มมีหนอง เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ ขออย่าตีตรา และลดทอนคุณค่ากลุ่มเสี่ยง" นพ.โอภาส กล่าว
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติม ว่า ในภาพรวมโรคฝีดาษวานร มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้ฝีดาษวานร หรือ Monkeypox เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังอันดับที่ 56 โดยกำหนดอาการมีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลือง บวมโต เจ็บคอ มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนังลักษณะเป็นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศและรอบทวารหนัก แขนหรือขา บางตุ่มอาจเกิดขึ้นที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า
เมื่อมีการประกาศเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังแล้ว มาตรการและการดำเนินงานคือ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและกรุงเทพมหานคร รวมถึงเจ้าพนักงานควบคุมโรคต้องทำแผนปฏิบัติงานโรคติดต่อต้องเฝ้าระวังและรายงานสถานการณ์โรค หรือเหตุสงสัยต่ออธิบดี รวมทั้งเรียกบุคคลใดๆ มาให้ข้อเท็จจริง หรือจัดส่งข้อมูลหรือเอกสารใดๆที่จำเป็นเพื่อประกอบการพิจารณา
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ thainewsonline