- 22 ก.ค. 2565
"หมอนิธิพัฒน์" รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึง สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ในตอนนี้
"หมอนิธิพัฒน์" รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ระบุข้อความว่า
ตื่นขึ้นมารับวันใหม่ที่ยังไม่มีข่าวร้ายเรื่องโควิดมาเข้าหู แม้ยอดวันนี้ผู้ป่วยอาการรุนแรง-ใส่เครื่องช่วยหายใจ-เสียชีวิต จะเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย ไม่คิดว่าเป็นความฝัน และคงไม่เป็นการด่วนสรุปจนเกินไป สำหรับผมที่อยากประกาศว่า สถานการณ์โควิดในกรุงเทพกำลังดีขึ้นแล้ว และกำลังลงจากจุดสูงสุดของระลอกที่ 5.2 แบบช้าๆ (ระลอกที่ 5 จากเชื้อโอไมครอน โดยมีคลื่นลูกที่ 5.1 จาก BA.2 และคลื่นลูกที่ 5.2 จาก BA.5) เพื่อเตรียมปรับฐานสำหรับรองรับช่วงวันหยุดยาวที่สองในปลายเดือนนี้ และสถานการณ์โดยรวมของทั้งประเทศน่าจะค่อยๆ สงบลงตามมาในอีก 1-2 สัปดาห์
ผมอยากสื่อสารกับสังคมในทุกช่องทาง เรื่อง “การเตรียมตัวรับมือกับโควิดต่อไปในอนาคต” เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงความคืบหน้าของสถานการณ์ที่เป็นจริง ทั้งข้อมูลสถิติที่ถูกต้อง เนื้อหาที่ถูกต้องทางวิชาการ และภาระหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน จากนั้นจึงจะนำไปสู่การหาข้อสรุปร่วมกันของสังคมว่า เราจะเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวเดินต่อไปข้างหน้าเพื่อประเทศชาติอย่างไร ทุกภาคส่วนจะทำหน้าที่ของตัวเองที่เหมาะสมได้อย่างไร
ในส่วนที่อยากสื่อถึงภาคประชาชน มีดังนี้
1. รับวัคซีนเข็มมาตรฐานให้ครบ เข็มกระตุ้นอย่างน้อยหนึ่งเข็มสำหรับคนทั่วไป และสองเข็มอย่างน้อยสำหรับคนกลุ่มเปราะบาง หรือคนที่ต้องพบปะผู้คนมาก หรือคนที่ต้องดูแลกลุ่มเปราะบาง วัคซีนช่วยป้องกันการป่วยรุนแรงและลดโอกาสการเสียชีวิตจากโควิด ช่วยลดโอกาสและลดความรุนแรงของกลุ่มอาการลองโควิด
2. ทำกิจกรรมนอกบ้าน ทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคม อย่างมีสติและพอประมาณ ระมัดระวังตัวเองตลอดเวลา ใส่หน้ากากเสมอเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ไม่รวมตัวกันจนแออัด และหมั่นล้างมือ เตรียมพร้อมปรับเปลี่ยนให้รัดกุมขึ้นเมื่อมีสถานการณ์โรคกระเพื่อมในพื้นที่ย่อยที่ตัวเองต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง
3. ทำความคุ้นเคยและรู้จักกับโควิดในฐานะโรคประจำถิ่น โดย
3.1 เมื่อเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง พยายามแยกตัวจากคนอื่นอย่างน้อย 5 วัน สังเกตอาการของโควิด ตรวจเอทีเคทุก 1-2 วัน
3.2 เมื่อเกิดการติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ถ้าไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง แยกกักตัวในที่พัก ใช้แค่เพียงยารักษาตามอาการ ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส คอยจับสัญญาณรุนแรงให้ได้เร็ว อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
3.2.1 ไข้สูงเกิน 38.0 องศาและไม่หายไปใน 6 ชั่วโมง
3.2.2 ขณะพักหายใจเร็วเกิน 22 ครั้งต่อนาที หรือวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้วได้ 94% ลงไป
3.2.3 ขณะพักชีพจรเต้นเร็วเกิน 100 ครั้งต่อนาที โดยไม่ทราบสาเหตุ
ถ้าพบสัญญาณรุนแรงอย่างน้อยหนึ่งข้อให้รีบติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้าน
เมื่ออาการไข้ ไอ จาม หายไปแล้วอย่างน้อย 5-7 วัน ถ้าจำเป็นต้องออกนอกที่พัก ควรตรวจเอทีเคซ้ำว่าผลเป็นลบ และใช้เวลานอกที่พักให้สั้นที่สุด พร้อมใส่หน้ากากตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการหยิบจับวัตถุหรือสัมผัสตัวผู้อื่น
3.3 ถ้าเป็นกลุ่มเปราะบาง เมื่อติดเชื้อให้รีบติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับยาต้านไวรัส และรับการประเมินความจำเป็นว่าต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือไม่