- 23 ก.ค. 2565
"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อัพเดตความรู้เกี่ยวกับ Long COVID ในเด็ก
"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ระบุข้อความว่า
23 กรกฎาคม 2565...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 839,147 คน ตายเพิ่ม 1,699 คน รวมแล้วติดไป 573,465,494 คน เสียชีวิตรวม 6,400,566 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี และเกาหลีใต้
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 69.77 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 51.91
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...อัพเดต Long COVID ในเด็ก
Funk AL และคณะจาก 8 ประเทศทั่วโลก ได้ทำการติดตามศึกษาเรื่อง Long COVID ในผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 1,884 คน
ในประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา อิตาลี สิงคโปร์ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย จอร์เจีย และนิวซีแลนด์
เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ระดับสากล JAMA Network Open เมื่อวานนี้ 22 กรกฎาคม 2565
สาระสำคัญที่รายงานคือ
ในภาพรวม เด็กที่ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 จะประสบปัญหา Long COVID ราว 5..8% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 4.8%-7.0%)
แต่หากติดเชื้อแล้วต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จะมีโอกาสเกิดปัญหา Long COVID สูงขึ้นเป็น 9.8% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 7.4%-13.0%)
ทั้งนี้หากติดเชื้อ แต่อาการเล็กน้อย โดยไม่ต้องเข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล จะมีโอกาสเกิด Long COVID เป็น 4.6% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 3.6%-5.8%)
ปัจจัยที่จะทำให้เสี่ยงต่อภาวะ Long COVID มากขึ้นได้แก่ การป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 48 ชั่วโมงขึ้นไป, มีอาการตั้งแต่ 4 อย่างขึ้นไป, และอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไป
ผลจากการวิจัยนี้ ช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติของภาวะ Long COVID ในเด็กมากขึ้น
แม้โอกาสเกิด Long COVID จะน้อยกว่าผู้ใหญ่หากเทียบกันเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่หากดูสถานการณ์จริงที่มีเด็กติดเชื้อจำนวนมากมาย เมื่อคิดเป็นจำนวนเด็กที่จะต้องประสบปัญหาอาการผิดปกติระยะยาว ก็จะมีจำนวนมาก
ภาวะ Long COVID จะกระทบต่อร่างกาย และจิตใจของเด็ก บั่นทอนคุณภาพชีวิต รวมถึงสมรรถนะการใช้ชีวิตและการเรียนของเด็ก
คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู คงต้องช่วยกันดูแลเด็กๆ ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อท่ามกลางสถานการณ์ระบาดในประเทศที่ยังรุนแรงต่อเนื่อง
หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ และรีบตรวจรักษา
พาเด็กๆ ไปฉีดวัคซีน เพื่อลดโอกาสป่วยรุนแรง เสียชีวิต และลดความเสี่ยงที่จะเป็น Long COVID
ปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้าน และโรงเรียน ให้มีการถ่ายเทอากาศที่ดี
และสอนให้เด็กๆ มีความรู้ และทักษะในการดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อ
เหนืออื่นใด การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเป็นหัวใจสำคัญที่จะลดความเสี่ยงไปได้มาก
ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด...
อ้างอิง
Funk AL et al. Post–COVID-19 Conditions Among Children 90 Days After SARS-CoV-2 Infection. JAMA Network Open. 22 July 2022.
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ thainewsonline