- 28 ก.ค. 2565
กระเเสข่าวไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงเพิ่ม ดร.อนันต์ แจงล่าสุด ข้อมูลยังไม่มีตัวอย่างของผู้ป่วยรายที่ 2 ต้องขออภัยในความสับสน ตอนนี้พบเเค่รายเดียวในไทย คือชายไนจีเรีย
ไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงเพิ่ม ดร.อนันต์ ชี้แจงล่าสุดเเล้ว ต้องขออภัยในความสับสน หลังจากที่สามารถจับกุมชายชาวไนจีเรีย ที่ติดฝีดาษลิง จาก จ.ภูเก็ต ประเทศไทย แล้วลักลอบหนีข้ามชายแดนช่องทางธรรมชาติออกไปฝั่งกัมพูชาได้แล้ว ที่ห้องเช่าแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงกัมพูชา โดยเจ้าหน้าที่ได้นำรถพยาบาลมาควบคุมตัวไปสถานที่กักตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ ซึ่งไทยได้ประกาศเป็นบุคคลต้องห้ามเรียบร้อย
ล่าสุดมีรายงานว่า ไทยพบผู้ป่วย ฝีดาษลิง รายที่ 2 ถอดรหัสที่จุฬาฯ ซึ่งด้าน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า "ผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่สองของไทย?
ไวรัสฝีดาษลิงที่ตรวจพบในประเทศไทยตอนนี้ เป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่ม A.2 ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างในยุโรปและอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่ม B.1 (สีเหลือง) ไวรัสใน 2 กลุ่มนี้มีความแตกต่างกันไม่มากในภาพรวม แต่มากพอที่จะแยกจากกันเป็นกลุ่มที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นกำเนิดของไวรัสที่ระบาดในประชากรมนุษย์
เชื่อว่ามาจาก 2 แหล่งที่แตกต่างกัน และ เนื่องจาก A.1 ใกล้เคียงกับสายพันธุ์เก่ามากกว่า จึงทำให้เชื่อว่าไวรัสฝีดาษลิงอาจจะอยู่ในประชากรมนุษย์มาสักพักนึงแล้ว ก่อนที่จะมีการระบาดอย่างเห็นได้ชัดของกลุ่ม B.1 ในตอนนี้ สำหรับความแตกต่างของอาการของโรค หรือ ความรุนแรงระหว่าง A.2 กับ B.1 ยังไม่มีข้อมูลแบ่งแยกออกมาชัดเจน
ถ้าดูจากข้อมูลของ A.2 ในฐานข้อมูล จะเห็นว่า A.2 ไม่ได้มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มมากเท่ากับ B.1 อาจจะเป็นเพราะไวรัสในกลุ่ม A.2 ยังมีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับไวรัสที่ระบาดหนักในตอนนี้
ข้อมูลนี้ชี้ว่าไวรัสในประเทศไทยพบแล้วในผู้ป่วย 2 ราย สายพันธุ์แรกคือจากชายชาวไนจีเรีย (Phuket-74) ไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่2
และ อีกตัวอย่างหนึ่งมาจากผู้ป่วยอีกรายที่ถอดรหัสที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-ID220016-FTV) โดยไวรัสสองตัวอย่างมีความใกล้เคียงกันมาก และมากกว่าสายพันธุ์ A.2 ที่ไปพบในอินเดีย และ สหรัฐอเมริกา เป็นไปได้สูงมากว่า ผู้ป่วยรายที่ 2 ได้รับเชื้อฝีดาษลิงมาจากชายชาวไนจีเรียรายแรก และ ยังไม่ใช่สายพันธุ์ B.1 ที่เป็นสายพันธุ์หลักของโลกตอนนี้
ป.ล. เนื่องจาก A.2 มาก่อนหลายปี แต่มีผู้ป่วยน้อยกว่า B.1 มาก เลยแอบตั้งสมมติฐานว่า ไวรัส A.2 อาจจะมีคุณสมบัติการแพร่กระจายน้อยกว่า B.1 ซึ่งการที่ยังไม่พบ B.1 ในประเทศไทยอาจจะเป็นข่าวดีอยู่นิดๆครับ"
อัพเดทล่าสุด ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ชี้แจงว่า ฐานข้อมูล GISAID ระบุว่ามีการถอดรหัสตัวอย่างไวรัสฝีดาษลิง 2 ตัวอย่าง ซึ่งมีนักวิจัยต่างประเทศนำไปวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมระบุว่าเป็นไวรัส 2 สายพันธุ์ที่ต่างกัน เนื่องจากมีความแตกต่างในตัวรหัสพันธุกรรมในบางตำแหน่ง ทำให้เข้าใจว่ามาจากตัวอย่างของผู้ป่วยคนละคนกัน แต่พอดูรายละเอียดของตัวอย่างที่ระบุไว้ พบว่า น่าจะมาจากผู้ป่วยรายเดียวกัน คือ ชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี โดยรหัสพันธุกรรมแรกตั้งชื่อไวรัสว่า hMpxV/Thailand/NIC_Phuket 74/2022 เป็นตัวอย่างที่มาจากการ swab คอ และ ตัวอย่างที่ 2 ตั้งชื่อไวรัสว่า hMpxV/Thailand/CU-ID220016-FTV/2022 เป็นตัวอย่างที่มาจากตุ่มแผล
สรุปคือ ข้อมูลยังไม่มีตัวอย่างของผู้ป่วยรายที่ 2 ตามที่มีคนวิเคราะห์มานะครับ แต่เป็นการสับสนจากชื่อที่ใช้ไม่ตรงกัน...ต้องขออภัยในความสับสนดังกล่าวด้วยครับ
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline