- 28 ก.ค. 2565
เปิดประวัติ อากงจุน เจ้าของพัดลมฮาตาริ บริจาคเงิน 900,000,000 บาท แก่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ชีวิตเริ่มต้นจากการเป็นลูกจ้างกวาดพื้น
จากกรณีเพจเฟซบุ๊ก Ramathibodi School of Nursing, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital ได้ออกมาโพสต์ข้อความว่า
บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด โดย คุณจุน-คุณสุนทรี วนวิทย์ และครอบครัว บริจาคเงิน 900,000,000 บาท แก่มูลนิธิรามาธิบดีฯ
โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภาวิทย์ เพียรวิจิตร รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร เป็นตัวแทนร่วมรับมอบ
ทั้งนี้ บริจาคสมทบทุนเพื่อโครงการปรับปรุงอาคารโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี เป็นเงินจำนวน 160,000,000 บาท
บริจาคสมทบทุนโครงการศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา เป็นจำนวนเงิน 300,000,000 บาท
และบริจาคสมทบทุนโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี เป็นจำนวนเงิน 440,000,000 บาท
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม
ด้านประวัตินายจุนกับการพาฮาตาริประสบความสำเร็จ
นายจุน เกิดวันที่ 7 พฤษภาคม 2480 วัยเด็กไม่ได้เรียนหนังสือในโรงเรียน จึงไม่มีคุณวุฒิทางการศึกษา แต่ว่าด้วยความขยันหมั่นเพียร หาความรู้อยู่ตลอด เป็นผลทำให้มีความแตกฉานหลายเรื่อง จนสามารถพัฒนาต่อยอดและประสบความสำเร็จในชีวิต
ชีวิตในวัยเด็ก เริ่มทำงานเป็นลูกจ้างกวาดพื้นร้านขายข้าวสารส่งออกต่างประเทศที่ถนนสี่พระยา ตั้งแต่อายุ 12 ปี แล้วก็เปลี่ยนอาชีพตามลำดับ ได้แก่ ช่างทำทอง, ขับรถโดยสารรับจ้าง, ลูกจ้างร้านทำป้ายพลาสติก, ลูกจ้างโรงกลึง, ช่างทำแม่พิมพ์สำหรับฉีดชิ้นงานพลาสติก
ด้วยความที่มีการประกอบอาชีพหลากหลาย ทำให้ตอนอายุ 28 ปี (พ.ศ. 2508) จึงสามารถทำโครงพัดลมพลาสติกขึ้นได้ ทั้งที่ยุคนั้นโครงกรอบพัดลมล้วนทำด้วยโลหะอะลูมิเนียม ก่อนที่จะเสนอขายชิ้นงานให้โรงงานผลิตพัดลมจนกลายเป็นการเปลี่ยนยุคเป็นพัดลมโครงพลาสติกเป็นต้นมา
ต่อมา นายจุนเรียนรู้การพันมอเตอร์ที่ไต้หวัน แล้วจึงมาผลิตพัดลมที่ใช้ชิ้นส่วนพลาสติกออกจำหน่ายเป็นของตัวเอง ตอนแรกใช้ยี่ห้อ K และยี่ห้อ TORY กระทั่งอายุ 52 ปี (พ.ศ. 2532) จึงผลิตพัดลมฮาตาริจำหน่ายเป็นครั้งแรก และกิจการก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ขยายกิจการจากพัดลมเป็นเครื่องฟอกอากาศ เครื่องซักผ้าขนาดเล็ก
ส่วนแนวทางการประกอบธุรกิจ มีอยู่ 2 ประการคือ
1. ใช้ต้นทุนเท่าเดิม ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
2. ใช้ต้นทุนลดลง ได้ผลผลิตเท่าเดิม
ในการผลิตสินค้าต่าง ๆ ของนายจุน ดำเนินการโดยบริษัทในเครือวนวิทย์กรุ๊ป และในตอนนี้มีพนักงานกว่า 2,000 คน ส่งผลิตภัณฑ์วางขายทั้งไทยและต่างประเทศ มีผลประกอบการปีละ 4 พันล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาดพัดลมในประเทศถึง 80% จนสามารถลดการนำเข้าพัดลมจากต่างประเทศได้เกือบทั้งหมด
เมื่อประสบความสำเร็จ นายจุนก็ได้ตอบแทนสังคม ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสโดยไม่แสดงตัว เช่น การบริจาคทรัพย์ให้โรงพยาบาลต่าง ๆ สร้างศูนย์วิปัสสนาและมอบเงินอุดหนุนให้ยุวพุทธิกสมาคม สร้างสะพานลอยข้ามถนน บริจาคเงินให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกระดับมูลค่าร่วมร้อยล้านบาท และทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่เสมอ จนเป็นผลให้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นสายสะพายปฐมดิเรกคุณาภรณ์
ในปี 2555 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จึงมีมติเอกฉันท์ให้นายจุน ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป เพราะสิ่งที่ได้กระทำมากว่า 50 ปี เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติโดยรวม
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ thainewsonline