โควิดรีบาวด์ มีอาการอย่างไร ใครเสี่ยงเป็นที่สุด หลังไทยพบผู้ป่วยแล้ว

โควิดรีบาวด์ Covid Rebound มีอาการอย่างไร ใครเสี่ยงเป็นที่สุด หลัง อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่าไทยพบผู้ป่วยแล้ว

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 65 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 หลังจากที่คนดังในโซเชียลมีเดียโพสต์การซื้อยาต้านไวรัสรักษามาให้ญาติป่วยโควิดกินเอง ทั้งที่แพทย์พิจารณาแล้วไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส 


โดย นพ.สมศักดิ์ ระบุว่า ไม่อยากให้ไปซื้อยาต้านไวรัสมากินเอง เพราะไม่รู้ว่าเป็นยาปลอมหรือไม่ และอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่เรากินอยู่ การซื้อยาเองทำให้มีปัญหาตรงนี้ ย้ำว่าหากติดเชื้ออยากให้เข้าสู่ระบบ ซึ่งในส่วนของ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ และ กทม.มีสแกน แจก จบ โดยสามารถสแกนแล้วทิ้งข้อมูลไว้ 6 อย่าง คือ ชื่อ ผลตรวจ อาการ ที่อยู่ เบอร์โทร. และโรคร่วม เราการันตีว่าของกรมการแพทย์ภายใน 1 ชั่วโมงจะมีการติดต่อกลับว่าควรจะได้รับยาอะไรหรือไม่ต้องรับยา ส่วนของ กทม.ก้น่าจะใช้เวลาใกล้เคียงกัน ขอให้ลงทะเบียนมีแพทย์ดูแลดีกว่าจะไปซื้อยากินเอง

 

โควิดรีบาวด์ มีอาการอย่างไร ใครเสี่ยงเป็นที่สุด หลังไทยพบผู้ป่วยแล้ว

ย้ำว่ายาโมลนูพิราเวียร์ไม่ขาด มีสนับสนุนให้ทุกแห่ง เนื่องจากมีการจัดหาทั้งจากกรมการแพทย์และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) อีกทั้งยาโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดใช้มาทั่วโลกยังไม่ถึงปี ยังไม่ได้ติดตามผลกระทบ ซึ่งช่วงนี้จะพบปรากฏการณ์หายจากโควิดแล้วกลับมาบวกใหม่ (Rebound) ก็ไม่อยากให้ไปซื้อยากินเอง


นอกจากนี้ นพ.สมศักดิ์ ยังกล่าวถึง โควิดรีบาวด์ Covid Rebound เรายังไม่ได้รวบรวมข้อมูลว่ามีมากน้อยแค่ไหน แต่เริ่มปรากฏให้เห็นบ้างแล้ว หลักๆคือต้องผลเป็นลบไปแล้ว แต่กลับมาบวกใหม่ ซึ่งบอกไม่ได้ บางคน 5-7 วันผลเป็นลบ พอวันที่ 10-14 กลับมาบวก


โดยหลักการหากกลับมาบวกใหม่ ต้องดูว่ามีอาการหรือไม่ หากไม่มีอาการอาจจะเป็นซากเชื้อก็ได้ หากมีอาการเราก็จะทำ RT-PCR เพื่อดูวงรอบค่า CT หาก CT สูงหรือทำแล้วเป็นลบ การที่ ATK แล้วบวกอาจจะเป็นซากเชื้อหรือผลบวกลวง ซึ่งก็อาจเกี่ยวกับเรื่องของการเก็บตัวอย่างด้วย ถ้าให้ดีกว่านั้นคือเพาะเชื้อ แต่มีราคาสูงเราไม่ทำทุกราย แต่ถ้าค่า CT ต่ำกว่า 28-30 อาจสังเกตอาการ อาจให้เริ่มยาอีกครั้งหรือยาอีกตัว ขึ้นกับลักษณะของผู้ป่วยว่ามีโรคประจำตัวอะไรไหม

 

โควิดรีบาวด์ มีอาการอย่างไร ใครเสี่ยงเป็นที่สุด หลังไทยพบผู้ป่วยแล้ว

การจ่ายยาจึงควรจ่ายโดยแพทย์ ไม่แนะนำให้ซื้อ เรามีจ่ายในภาครัฐมีให้เข้าถึงทั้งหมด โรงเรียนแพทย์ก็มี หากกินยารักษาครบแล้ว ตรวจ ATK แล้วยังบวกอยู่ก็ให้แจ้งแพทย์เพื่อช่วยดูแล อย่างที่ผมเจอ 2 ราย รายหนึ่งไปต่างประเทศได้ยาจากต่างประเทศ อายุเกือบ 70 ปี พอ 14 วันลบไปแล้ว ก็กลับมาบวกโดยไม่มีอาการอะไร อีกรายหนึ่งอายุ 60 กว่าปี อาการพอสมควร มีโรคประจำตัว ให้โมลนูพิราเวียร์ประมาณ 2 สัปดาห์กลับมาบวก มีอาการไอมานิดหน่อยมาตลอด ซึ่งแนะนำว่าไม่ต้องทำอะไร เพราะกินยาครบแล้ว และอาการไม่ได้มากขึ้น คนไข้บอกว่าดูเหมือนดีขึ้น แต่พอมาตรวจอีกครั้งก็เป็นลบ โดยยังไม่ได้ตรวจ RT-PCR เรื่องนี้จึงยังพูดยาก หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังไม่พอ


เมื่อถามว่า สปสช.จะหารือกรมการแพทย์เพื่อจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์เป็นตัวแรก (First Line) นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า มีการหารือเป็นระยะ และกรมฯ ช่วยประสานเอาความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญมา ย้ำว่ายามีทั้งดีและไม่ดี ใช้โมลนูพิราเวียร์กันมากๆ เรายังไม่รู้ผลข้างเคียงระยะยาว อย่างตนเองอายุเกิน 60 ปีถ้าอาการไม่มากจะไม่กินยาอะไรเลย กินแก้ไข้ แก้ไอไป ทุกคนไม่จำเป็นต้องกินยา ก็เหมือนโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ หากเป็น Post-Pandemic แล้วไม่มีการกลายพันธุ์รุนแรง ในอนาคตก็จะเหมือนโรคติดเชื้อไวรัสทั่วไป แต่เรากลัวกลายพันธุ์ ฝ่ายรักษาก้ต้องคอยตั้งรับสิ่งที่แย่ที่สุดไว้ด้วย

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline