- 09 ธ.ค. 2567
"การนวดทำให้ตายได้ไหม" อนุสาขากระดูกสันหลัง ราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลชัด สายนวดต้องรู้
"การนวดทำให้ตายได้ไหม" เรื่องนี้ หลายคนคงสงสัยกับอยู่ กับกระแสข่าวของ การนวด แล้วมีคนเสียชีวิต ที่หลายคนยังคงติดตามกันอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีข้อมูลจาก ข้อมูลโดย อนุสาขากระดูกสันหลัง ราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาเปิดเผยว่า
การนวดทำให้ตายได้ไหม?
การนวดถือเป็นวิธีบำบัดที่ได้รับความนิยมทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย การนวดไม่เพียงช่วยผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ แต่ยังส่งเสริมสุขภาพในหลายด้าน เช่น การลดอาการปวดกล้ามเนื้อ เพิ่มการไหลเวียนโลหิต และบรรเทาความเครียด
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจสงสัยว่า “การนวดมีความเสี่ยงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้หรือไม่?”
คำตอบคือ มีความเป็นไปได้ในบางกรณี ซึ่งโดยมากเกิดจากภาวะ/ โรคของระบบหลอดเลือด หรือระบบประสาท (โดยเฉพาะไขสันหลัง) ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้คือ ไม่ได้เสียชีวิตโดยตรงจากการนวด แต่อาการแย่ลงจากการนวดที่ไม่เหมาะสมกับโรคหรือภาวะที่เป็นอยู่ ซึ่งบางคนอาจจะไม่รู้ตัวเลย หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์มาก่อน
โดยทั่วไป จึงแนะนำว่า หากมีโรคและภาวะดังต่อไปนี้ ควรหลีกเลี่ยงการนวด เนื่องจากมีโอกาสเกิดอันตรายได้ภายหลังการนวด
1. โรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูกและข้อ เช่น
โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน (Herniated Disc) เนื่องจาก การกดหรือดัดแรงๆ อาจเพิ่มแรงกดทับต่อเส้นประสาท ทำให้อาการปวดหรืออาการอ่อนแรงนั้นแย่ลง
โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) โดยผู้ป่วยกระดูกพรุนอาจเสี่ยงต่อการแตกหักของกระดูก หากถูกกดหรือดัดแรง
โรคข้อต่อกระดูกคอหลวม (C1/2 Instability) หรือโรคหินปูนพอกเส้นเอ็น (Ossified Posterior Longitudinal Ligament: OPLL) ที่ไม่แสดงอาการ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขสันหลังถูกกดทับ
โรคกระดูกสันหลังติดเชื้อ (Spinal Infection) เช่น การติดเชื้อวัณโรคในกระดูกสันหลัง
2. โรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด
การตีบของหลอดเลือดคอ (Carotid Artery Stenosis) การนวด ดัด หรือกดบริเวณลำคอแรงเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน ทำให้สมองขาดเลือด (Stroke) และมีอาการของโรคตามมาได้
ภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นที่ปอด หรือสมอง (Venous Thromboembolsim, VTE) เพราะ การนวดบริเวณที่มีลิ่มเลือด หรือคราบไขมันในผนังหลอดเลือด (Plaque) อาจทำให้ลิ่มเลือด หรือคราบไขมันหลุดไปอุดกั้นหลอดเลือดสมอง (ทำให้เกิดอาการสมองขาดเลือด) หรือไปอุดกั้นหลอดเลือดที่ขั้วปอดทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน อาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
3. โรคที่เกี่ยวข้องกับการกดทับของระบบประสาทส่วนคอ เช่น
ภาวะกดทับรากประสาทส่วนคอ (Cervical Radiculopathy) จะทำให้มี อาการปวดร้าวจากคอไปแขน อาจทำให้อาการกำเริบเป็นมากขึ้น หากถูกกดหรือดัดบริเวณที่เส้นประสาทถูกกดทับอยู่เดิม
ภาวะกดทับไขสันหลัง (Cervical Myelopathy) การดัดหรือกดคอแรงๆ อาจเพิ่มการกดทับไขสันหลัง ทำให้เกิดอาการชา อ่อนแรงแขน มือ หรือขา หรือสูญเสียการควบคุมการขับถ่ายได้
ธงแดง
สัญญาณธงแดง ที่ต้องระวังหลังเข้ารับการนวด บุคคลเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการนวดซ้ำ และ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางทันที
1. มีอาการปวดเฉียบพลันหรือรุนแรงบริเวณคอหรือหลัง
2. มีอาการชาหรืออ่อนแรงบริเวณแขนหรือขา ใช้งานมือได้ไม่ถนัด เดินลำบาก
3. สูญเสียการควบคุมการขับถ่าย
4. อาการเวียนศีรษะ อาเจียน เห็นภาพซ้อน ปากเบี้ยวหน้าเบี้ยว หรือหมดสติหลังจากการนวด
ข้อควรปฏิบัติในการนวดอย่างปลอดภัย
1. เลือกรับการนวดผู้เชี่ยวชาญ: ควรรับบริการนวดจากผู้ที่ได้รับการรับรองและมีประสบการณ์
2. แจ้งประวัติสุขภาพ: หากมีโรคประจำตัวหรืออาการผิดปกติ ควรแจ้งให้ผู้ให้บริการทราบก่อนเริ่มการนวด
3. หลีกเลี่ยงการนวดรุนแรง หรือมีการสะบัดอย่างรวดเร็ว: โดยเฉพาะในบริเวณสำคัญ เช่น คอ ที่มีหลอดเลือดหรือเส้นประสาทไขสันหลังอยู่
4. ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ: หากมีภาวะสุขภาพที่อาจเสี่ยง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด หรือภาวะการตั้งครรภ์
5. หากภายหลังการนวดมีอาการผิดปกติดังที่ได้กล่าวไป ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางทันที
สรุปการนวดทำให้ตายได้ไหม?
การนวดที่เหมาะสมและปลอดภัยโดยผู้เชี่ยวชาญนั้นมีประโยชน์ แต่ในบางกรณี หากการนวดดำเนินการอย่างไม่เหมาะสม หรือผู้รับบริการมีโรคหรือภาวะที่เสี่ยงอยู่ก่อนแล้ว การนวดอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ เช่น การกดทับเส้นประสาท หรือ การฉีกขาดของหลอดเลือด ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะจากภาวะแทรกซ้อนของอาการทางระบบประสาท หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้การนวดเป็นวิธีบำบัดที่ปลอดภัย
ข้อมูลโดย อนุสาขากระดูกสันหลัง ราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย