- 21 พ.ค. 2567
จากกรณีเกิดเหตุ เครื่องบิน SQ321 ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ ตกหลุมอากาศรุนแรง จนทำให้มีผู้บาดเจ็บ 30 ราย และ เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งเราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “หลุมอากาศ” ซึ่งมีความอันตรายมากกว่าที่คุณคิด
ทำความรู้จัก “หลุมอากาศ” อันตรายกว่าที่คิด ถ้าไม่คาดเข็มขัด!
หลุมอากาศเกิดขึ้นได้ยังไง?
1. เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบิน บินเข้าไปใกล้กับรอยต่อระหว่างขอบนอกของกระแสลมกรดกับบริเวณสภาพอากาศปกติ ซึ่งสาเหตุข้อนี้ไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ กระแสลมกรด (Jet Stream) คือ แถบกระแสลมแรงที่เคลื่อนที่ในเขตโทรโพพอส (แนวแบ่งเขตระหว่างชั้นโทรโพสเฟียร์กับชั้นสตราโตสเฟียร์) โดยพัดจากด้านตะวันตกไปตะวันออกตามแนวการหมุนของโลก และพัดโค้งไปมาคล้ายแม่น้ำจากละติจูดสูงไปละติจูดต่ำ หรือจากละติจูดต่ำไปละติจูดสูงและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยและมักจะเกิดร่วมกับกระแสลมกรด เรียกว่า “บริเวณความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส”
2. เกิดขึ้นเมื่อมีลมพัดปะทะภูเขา ทำให้อากาศอีกด้านปั่นป่วน เกิดเป็นหลุมอากาศ สาเหตุข้อนี้สามารถคาดการณ์ได้ และโดยส่วนใหญ่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักบินจะเตือนผู้โดยสารให้ทราบ
3. พายุ ฝนฟ้าคะนอง สาเหตุข้อนี้สามารถตรวจพบได้ นักบินจึงหลีกเลี่ยงไม่บินไปใกล้ได้
เรามาทำความรู้จัก “หลุมอากาศ 3 ระดับ”
หลุมอากาศระดับเบา (Light Turbulence) ทั้งลูกเรือและนักบินจะมีการสื่อสารกัน หากต้องทำการเสิร์ฟอาหารในระหว่างนี้ หากรุนแรงมากขึ้นก็จะทำการเปิดสัญญาณให้ทุกคนคาดเข็มขัด (Seat belt sign on) เพื่อความปลอดภัย
หลุมอากาศระดับกลาง (Moderate Turbulence) จะสั่นแรงเพิ่มขึ้นมา หากไม่คาดเข็มขัด หรือเดินอยู่บริเวณทางเดินอาจจะสั่นจนตัวลอยขึ้นมาได้ เพื่อความปลอดภัยควรหาที่สามารถนั่งได้ใกล้เคียง และคาดเข็มขัดให้เร็วที่สุด
หลุมอากาศระดับรุนแรง (Severe Turbulence) จังหวะนี้ต้องรีบคาดเข็มขัดโดยเร็ว เพราะความรุนแรงนั้นอาจทำให้ของหล่นกระจัดกระจาย หรือหากไม่คาดเข็มขัดตามสัญญาณ อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทำให้ได้รับบาดเจ็บได้ไม่มากก็น้อย
โดยปกติแล้วหลุมอากาศทั้ง 3 แบบ นักบินจะสามารถมองเห็นได้จากเรดาร์ (Rader) แต่จะมีหลุมอากาศอีกประเภทที่เรดาร์ไม่สามารถตรวจจับได้ เรียกว่า “Clear Air Turbulence” เป็นหลุมอากาศที่เกิดจากกระแสลมแรง เปลี่ยนทิศกะทันหัน ซึ่งมีความรุนแรงกว่า severe turbulence
มาตรการความปลอดภัยและคำแนะนำสำหรับนักเดินทาง
เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากหลุมอากาศ สายการบินต่างๆ จึงมีมาตรการความปลอดภัยต่างๆ เช่น การตรวจสอบสภาพอากาศก่อนทำการบิน การใช้เทคโนโลยีตรวจจับหลุมอากาศ และการฝึกอบรมลูกเรือให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนผู้โดยสารเอง ก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของลูกเรืออย่างเคร่งครัด โดยการคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลา และเก็บสัมภาระให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
นักเดินทางเองก็มีวิธีลดความเสี่ยงจากหลุมอากาศได้ เช่น เลือกที่นั่งใกล้ปีกเพื่อลดการสั่นสะเทือน หลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงที่มีพายุ เตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนขึ้นเครื่องด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำมากๆ และที่สำคัญ ต้องตั้งสติให้มั่น ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไปหากประสบเหตุ เพราะลูกเรือได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีแล้วในการรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้
Cr. "ตกหลุมอากาศ"เหตุระทึกบนเครื่องบินที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเจอ" จาก http://www.dek-d.com/education/35400/ สืบคั้น 27 ส.ค.2557