- 22 ส.ค. 2565
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความให้ความรู้ หัวข้อ ผู้สูงอายุ ควรดื่มน้ำให้พอเพียง แต่ไม่ควรดื่มน้ำก่อนนอน
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ระบุว่า
"ผู้สูงอายุ ควรดื่มน้ำให้พอเพียง แต่ไม่ควรดื่มน้ำก่อนนอน" ครับ
มีการแชร์ข้อความกัน ทำนองว่า "สาเหตุที่ผู้สูงอายุนอนหลับ แล้วไม่ตื่น เสียชีวิต (มีการยกตัวอย่างคุณสมบัติ เมทะนี) เพราะดื่มน้ำน้อยเกินไป ทำให้เลือดข้นหนืด หัวใจบีบตัวแรงมาก ขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ จึงเสียชีวิต แนะนำให้ผู้สูงอายุดื่มน้ำก่อนนอน 1 แก้ว เพื่อช่วยการไหลเวียนเลือด" !?
ตามปรกติแล้ว ทางการแพทย์จะเตือนให้ผู้สูงอายุควรดื่มน้ำไม่น้อยกว่า 8 แก้วต่อวัน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ (โดยให้ดื่มบ่อยๆ แต่ดื่มทีละน้อย) แต่ไม่ได้แนะนำให้ดื่มก่อนนอนครับ เพราะอาจทำให้ตื่นกลางดึก ส่งผลเสียต่อการนอนไม่หลับได้
ที่แชร์กันว่า "ถ่ายปัสสาวะกลางดึก แล้วเลือดจะหนืดข้นขึ้น อุดตันได้ง่ายนั้น" ในทางการแพทย์บอกว่า ไม่เป็นความจริง ! และการพิจารณาถึงภาวะที่เกี่ยวกับโรคหัวใจ ให้ดูจากสัญญาณเตือน เช่น การเจ็บหน้าอกด้านซ้าย เจ็บร้าวทะลุหลัง ฯลฯ
ทางรายการ "ชัวร์ก่อนแชร์" สำนักข่าวไทย ได้เคยนำเสนอเรื่อง "การปัสสาวะเกี่ยวกับภาวะหัวใจอุดตัน จริงหรือ?" (https://www.youtube.com/watch?v=dptwkiuyw1U) จากที่มีการแชร์ว่า "การที่ผู้สูงอายุหลีกเลี่ยงการปัสสาวะตอนกลางคืนด้วยการไม่ดื่มน้ำ มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจและสมองอุดตัน" .... มีข้อสรุปว่า "ไม่จริง ไม่ควรแชร์ต่อ"
- ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. สอบถาม นพ.ธนบูรณ์ วรกิจธำรงค์ชัย นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันประสาทวิทยา ยืนยันว่า การดื่มหรือไม่ดื่มน้ำ ไม่มีผลทำให้เกิดลิ้นหัวใจหรือหลอดเลือดสมองอุดตัน
- ส่วนมาก คนเราจะนอนหลับได้โดยไม่ลุกเข้าห้องน้ำกลางดึก ในขณะที่บางคนอาจจะเข้าห้องน้ำ 1-2 ครั้ง
- ซึ่งหากเข้าห้องน้ำกลางดึกบ่อยกว่า 1-2 ครั้ง ต้องดูว่าดื่มน้ำมากไปไหม มีโรคประจำตัวไหม โดยเฉพาะเบาหวาน (ในขณะที่คนเป็นความดัน เบาหวาน สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือไขมันในเลือดสูง มีโอกาสที่จะเป็นโรคเส้นเลือดอุดตันมากกว่า)
- การดื่มน้ำมีประโยชน์ ควรดื่มให้ได้ 6-8 แก้วต่อวัน แต่ไม่แนะนำให้ผู้สูงอายุดื่มก่อนนอน เพราะการตื่นกลางดึกอาจทำให้นอนไม่หลับ
- สัญญาณเตือนว่าอาจจะเป็นโรคหัวใจ ได้แก่ เจ็บหน้าอกด้านซ้าย เจ็บร้าวทะลุหลัง เจ็บแน่น เจ็บเสียด ปวดร้าวไปที่กรามข้างซ้ายหรือร้าวไปแขนซ้าย (แต่ถ้าจุกแน่นแถวลิ้นปี่ อาจจะเป็นโรคกระเพาะ)
- ส่วนที่แชร์ว่า ถ่ายปัสสาวะแล้วเลือดจะหนืดข้นขึ้น อุดตันได้ง่ายนั้น ไม่เป็นความจริง ร่างกายมีกลไกที่จะปรับสมดุลระหว่างนอนอยู่แล้ว ยกเว้นนอนในที่ร้อนมาก คนไข้เสียเหงื่อมาก หรือขาดน้ำก่อนเข้านอน
- ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือสมองอุดตัน สามารถเกิดได้ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องเกิดช่วงตี 5 หรือ 6 โมงเช้า อย่างที่แชร์กัน
- ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า หลักปฏิบัติที่ถูกต้องคือ หมั่นออกกำลังกาย (หากไม่ออกกำลังกาย หัวใจอาจเต้นเร็วเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น) และกินอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ทำลายสุขภาพ
----------------
เอาข่าวเกี่ยวกับการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุดื่มน้ำไม่น้อยกว่า 8 แก้วต่อวัน มาฝากด้านล่างครับ
(รายงานข่าว https://www.hfocus.org/content/2020/07/19846)
กรมอนามัยเตือนผู้สูงอายุดื่มน้ำน้อยกว่า 8 แก้วต่อวัน หวั่นเกิดภาวะขาดน้ำ แนะผู้ดูแลใส่ใจกระตุ้นให้ดื่มน้ำทุกชั่วโมง โดยเน้นให้ดื่มทีละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง
เป็นที่ทราบว่า การดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้วเป็นสิ่งจำเป็นต้องร่างกาย แต่รู้หรือไม่ว่า หากเราดื่มน้ำน้อย หรือดื่มไม่ถึงวันละ 8 แก้ว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุจะส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร
“ผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมดื่มน้ำสะอาดน้อยกว่า 8 แก้วต่อวัน อาจส่งผลต่อสุขภาพ นำมาสู่ภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาการที่แสดงออกถึงภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุคือ ชีพจรเร็วกว่า 120 ครั้งต่อนาที..” นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข อธิบายถึงความสำคัญของการดื่มน้ำสะอาดวันละ 8 แก้ว
โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่ขาดน้ำยังเสี่ยงความดันโลหิตต่ำ ขณะเปลี่ยนท่าทำให้วิงเวียนศีรษะ เป็นลมง่าย หมดสติ มีภาวะสับสน เยื่อบุปากแห้ง ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลงมาก แต่มีปริมาณปัสสาวะปกติ เพราะไตไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ในภาวะขาดน้ำ ทำให้ปริมาณปัสสาวะในระยะแรกของภาวะขาดน้ำไม่ลดลง จนกระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้ายทำให้หัวใจล้มเหลวและไตวาย
ทั้งนี้ ภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุมักพบได้ง่าย เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อที่ลดลงทำให้น้ำในร่างกายผู้สูงอายุลดลง การตอบสนองต่อความกระหายน้ำลดลง ทำให้ดื่มน้ำน้อยลง ร่างกายจึงไม่ได้น้ำชดเชย ประกอบกับความเสื่อมของร่างกาย เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ สมองเสื่อม ทำให้ดื่มน้ำน้อยลงและไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
“ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 40 เป็นโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ซึ่งต้องได้รับยาขับปัสสาวะทำให้น้ำในร่างกายน้อยลง และปัญหาช่องปาก ทำให้ไม่อยากกินอาหาร ปัญหาด้านสายตา ทำให้มองเห็นไม่ชัดเจนจึงไม่อยากไปจัดหาน้ำดื่ม และที่สำคัญคือผู้สูงอายุที่มือสั่นหยิบจับหรือกำไม่ได้ จะไม่สามารถดื่มน้ำได้ด้วยตนเอง ผู้ดูแลจึงควรจัดหาน้ำให้ท่านดื่มวันละ 8 แก้ว และกระตุ้นให้ดื่มทุกชั่วโมง โดยให้ดื่มเครื่องดื่มที่ชอบ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัด จัดหาแก้วมีหูจับหรือสะดวกในการใช้ หรือให้ดูดจากหลอด และควรให้ดื่มน้ำช้า ๆ เพื่อป้องกันการสำลัก ส่วนการกินยาและอาหารให้ดื่มน้ำอย่างน้อย 1 แก้ว นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากพบโรคควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ”
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่ thainewsonline