- 27 ส.ค. 2565
ปภ.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานมีน้ำท่วมใน 14 จังหวัด ประสานพื้นที่เร่งระบายน้ำและดูแลผู้ประสบภัย
27ส.ค.65 เวลา 09.30 น. ปภ.รายงานช่วงวันที่ 24 - 27 ส.ค.65 มีพื้นที่รับผลกระทบจากอุทกภัยรวม 19 จังหวัด 41 อำเภอ 143 ตำบล 573 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 19,078 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมใน 14 จังหวัด 25 อำเภอ 107 ตำบล 436 หมู่บ้าน ภาพรวมหลายพื้นที่ระดับน้ำลดลง บางจุดระดับน้ำยังทรงตัว ประสานพื้นที่เร่งระบายน้ำและดูแลผู้ประสบภัยแล้ว
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานภาวะฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้หลายพื้นที่มีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 150 มิลลิเมตร และปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขามีปริมาณมาก โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ประกอบกับการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500 - 1,800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จึงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่เฝ้าระวังช่วงระหว่างวันที่ 24 - 30 สิงหาคม 2565 โดยตั้งแต่วันที่ 24 - 27 สิงหาคม 2565 มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 19 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ตาก เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี อุดรธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา เลย จันทบุรี สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง เพชรบุรี นครนายก ปราจีนบุรี กระบี่ และภูเก็ต รวม 41 อำเภอ 143 ตำบล 573 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 19,078 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 14 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี อุดรธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง เพชรบุรี สระแก้ว กระบี่ และภูเก็ต รวม 25 อำเภอ 107 ตำบล 436 หมู่บ้าน ภาพรวมหลายพื้นที่แนวโน้มระดับน้ำลดลง แต่บางจุดยังทรงตัว แยกเป็น
1. ลำปาง ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลำปาง อำเภอแจ้ห่ม อำเภอเกาะคา และอำเภอเมืองปาน รวม 11 ตำบล 54 หมู่บ้าน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
2. เพชรบูรณ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เทศบาลตำบลเมือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
3. อุบลราชธานี เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี รวม 1 ตำบล 8 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 72 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำยังทรงตัว
4. อุดรธานี เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ตำบลดอนกลอย อำเภอพิบูลย์รักษ์ รวม 1 หมู่บ้าน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
5. บุรีรัมย์ เกิดน้ำท่วมขังในอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 103 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับลดลง
6. ขอนแก่น เกิดน้ำท่วมในอำเภอพล รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
7. มหาสารคาม เกิดน้ำท่วมใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองมหาสารคาม อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย และอำเภอเชียงยืน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
8. นครราชสีมา เกิดน้ำท่วมขังในตำบลตลาดไทร อำเภอชุมพวง รวม 1 หมู่บ้าน มีน้ำท่วมขังจุดกลับรถใต้สะพาน ถนนสายเจนจบทิศ-จังหวัดบุรีรัมย์ รถผ่านไม่ได้ ประชาชนได้รับผลกระทบ 13 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
9. พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำล้นตลิ่งจากการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร อำเภอบางปะหัน อำเภอพระนครศรีอยุธยา และอำเภอบางปะอิน รวม 75 ตำบล 340 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 10,032 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น
10. อ่างทอง เกิดฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอวิเศษชัยชาญ รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 57 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว
11. เพชรบุรี เกิดฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอเมืองเพชรบุรี ทำให้น้ำท่วมผิวการจราจร รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
12. สระแก้ว เกิดฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอวังน้ำเย็น รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลระทบ 8 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
13. กระบี่ เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกระบี่ และอำเภออ่าวลึก รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน
14. ภูเก็ต เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอกระทู้ รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน
สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง ส่วนพื้นที่ที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ thainewsonline