เตือนอย่าลงไปช่วยคนโดนไฟดูดในน้ำ ยกเคส น้องบาส ดีไม่เป็นผู้ประสบภัยอีกคน

เพจดังขอเตือนอย่าลงไปช่วยคนโดนไฟดูดในน้ำ ยกเคส "น้องบาส" คนยกย่องแต่น่าจับมาตีตูด ดีไม่เป็นผู้ประสบภัยอีกคน

จากกรณีน้องบาส ฮีโร่ชุดม่วง ช่วยนักเรียนโดนไฟดูดขณะน้ำท่วมจนตัวเองได้รับบาดเจ็บ โดยมีเพจดังอย่าง Darth Prin ได้ออกมาพูดถึงเรื่องนี้พร้อมเตือนว่าเหตุการณ์ลงไปช่วยคนจมน้ำโดนไฟดูดนั้นไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง พร้อมยกตัวอย่างรูปภาพให้ดูกันชัดๆว่า "น้องบาส" โชคดีแค่ไหนแล้วที่ไม่กลายเป็นผู้ประสบภัยไปอีกคน

ตอนแรกทางเพจโพสต์ให้ข้อมูลไว้ว่า "ทำไมเราไม่ควรลุยน้ำไปช่วยคนจมน้ำที่โดนไฟดูด จากข่าวที่มีหนุ่มน้อยท่านหนึ่งลุยน้ำไปช่วยเด็กโดนไฟดูด แม้ว่านี่จะเป็นความกล้าหาญที่น่าชื่นชมแต่ก็เป็นเรื่องที่ควรจับมาตีตูดรัวๆไปพร้อมกัน เพราะ การพยายาม "ลงน้ำ" ไปช่วยคนโดนไฟดูดในน้ำ ส่วนใหญ่จะตายหมู่ มันแทบจะไม่มีวิธีช่วยที่ปลอดภัยชัวร์เลยถ้าตัวเราอยู่ในน้ำไปกับเหยื่อ แต่ เราก็เข้าใจกันว่าการเห็นคนจะตายต่อหน้า มันก็ต้องมีคนอดจะวัดดวงเข้าไปช่วยไม่ได้ ดังนั้นเราก็มาคุยกันละกันว่า ทำไม ในวงความปลอดภัยถึงห้ามนักห้ามหนากับการลุยน้ำไปช่วยคนจมน้ำ

 

เตือนอย่าลงไปช่วยคนโดนไฟดูดในน้ำ ยกเคส น้องบาส ดีไม่เป็นผู้ประสบภัยอีกคน

 

ไฟฟ้า เดินทางในน้ำบริสุทธิ์ได้แย่มาก สิ่งที่ทำให้น้ำนำไฟฟ้า คือสารละลายในน้ำ น้ำฝน น้ำคลอง น้ำล้นจากท่อระบายน้ำ ค่าการนำไฟฟ้าของน้ำนั้นแตกต่างกันได้เยอะมากตั้งแต่ 100-3000 uS/cm ระยะห่างที่จะโดนไฟดูดของน้ำ จึงแตกต่างกันได้เยอะมาก 

การเดินทางของกระแสไฟฟ้า เดินทางผ่านพื้นที่หน้าตัดของตัวนำ ในน้ำ กระแสไฟ และความต่างศักย์จะลดลงเป็นกำลังสองของระยะห่างจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้า ดังนั้น มันดูเหมือนว่าไฟดูด จะเดินทางได้ไม่ไกลนักใช่ไหม ทว่า ระบบประสาทในร่างกายคนเราโดนรบกวนด้วยกระแสไฟฟ้าได้ง่ายมาก ข้างในร่างกายมนุษย์เรา มีเส้นประสาทเป็นช่องทางนำกระแสไฟฟ้า ผิวหนังมนุษย์เรา เสมือนเป็นฉนวนไฟฟ้า แต่ถ้าเปียก เกลือในเหงื่อและในผิวหนังจะทำให้ค่าการนำไฟฟ้าของผิวหนังสูงขึ้นปรู๊ดปร๊าด อันตรายของไฟดูด คือกระแสไฟฟ้าจะเดินทางผ่านช่องทางที่มีค่าการต้านทานไฟฟ้าต่ำที่สุด หรือนำไฟฟ้าได้ดีที่สุด มันจะเดินทางผ่านเส้นประสาทนี่ละ และไฟฟ้า เอาแค่ไฟบ้าน 220 โวลท์ กระแสแค่ 1/100 ของหลอดไฟ ก็เพียงพอจะทำให้เราเกร็งชักควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้ และเราก็ล้มลงจมน้ำ ระยะปลอดภัยจากไฟดูดตามมาตรฐานความปลอดภัย จึงตั้งไว้ไกลมาก เขาตั้งระยะกันที่ 100 เมตรที่ไม่ให้เข้าไปใกล้

อันนี้คิดรวมกับกรณีน้ำทะเลที่นำไฟฟ้าได้ดีด้วย 
วิธีช่วยคนโดนไฟดูดในน้ำ มีหลักการคือ Reach Throw Row but Don't go แปลเป็นไทยก็คือ ยื่น โยน พาย (เรือเข้าหา) แต่ อย่า(เสือxx) ลงไปช่วย

บนเรือ และบนตลิ่ง ร่างกายเราแห้ง มันมีความเป็นฉนวนไฟฟ้า เราพายเข้าหาได้ เรายื่นของให้จับ โยนชูชีพ โยนเชือกคล้อง ลากกลับเข้าฝั่งได้ แต่ถ้าลงไปช่วย เราเปียก เรานำไฟฟ้า เราอาจพยายามใช้ไม้หรือก้านร่มพยายามเกี่ยวลากเหยื่อออกจากอันตราย ตัวไม้หรือก้านร่มนั้นสามารถเป็นสะพานไฟให้ไฟฟ้าที่ตอนแรกกระจายออกเบาบางจนยังไม่ถึงกับดูดเรากระโดดเข้าสู่ช่องทางที่นำไฟฟ้าดีกว่าน้ำ จนถึงเรา และทีนี้ เราก็โดนไฟดูดตามไปด้วย จะใช้โลหะเขี่ย คิดให้ดีก่อนทำ เราสามารถโยนเชือกไปเกี่ยวลาก หรือไม้ยาวๆเกี่ยวออก ถ้าหาไม่ได้ กางเกงยีนส์ เข็มขัด ไปขอคนมาผูกต่อๆกันแล้วโยนคล้องลากเข้าจากที่ห่างๆก็ยังดีกว่าเอาร่มไปเขี่ยใกล้ๆ

สำหรับคนที่ลุยน้ำ หรือเล่นน้ำแล้วรู้สึกเหมือนโดนไฟดูด วิธีการที่แนะนำคือ

1. หยุด! อย่ากลับขึ้นฝั่ง!! ไฟฟ้ามักรั่วมาจากฝั่ง ให้กลับไปตามทางที่เดินหรือว่ายมา ถ้าว่ายหรือเดินมาจากฝั่ง โอเค กลับไปทางนั้นได้ 
2. ตะโกนร้องความช่วยเหลือ บอกว่าไฟดูด คนสำลักน้ำแล้วพูดไม่ได้ ต้องทำให้คนที่จะเข้ามาช่วยรู้ว่าต้อง Reach Throw Row but Don't go
3. ให้พยายามทำตัวให้อยู่ในแนวตั้งที่สุดเสมอ ลดเส้นทางการเดินของกระแสไฟฟ้าผ่านตัวเราให้สั้นที่สุด ย้อนกลับไปทางเดิม เตือนคนที่อยู่ในน้ำด้วยกันให้ออกห่างจากพื้นที่นั้น 100 เมตร
4. แจ้งคนหรือเจ้าหน้าที่บนฝั่งให้ตัดไฟ ขึ้นป้ายเตือนไฟดูด อย่าให้มีเหยื่อเพิ่ม กรณีน้ำท่วม แจ้ง 191 ก็ได้ 
การไม่ลงไปช่วย ไม่ใช่ใจดำ การช่วยตัวเองให้รอดก็คือลดเหยื่อลงไป 1 คน การเตือนคนไม่ให้เผลอลงไปช่วยหรือเตือนไม่ให้คนเดินผ่านเข้ามาใกล้ได้ 1 คน ก็เป็นการช่วยลดเหยื่อไป 1 คน จงเตรียมการให้พร้อมก่อนช่วย จงพยายามตัดไฟ จงพยายามหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมปลอดภัยสำหรับการช่วยเหลือก่อนดำเนินการช่วย จงป้องกันไม่ให้มีเหยื่อลงไปเพิ่มครับ
#ESD #electricshockdrowning #น้ำท่วมไฟดูด

เพิ่มเติม: ขยายความในรูป Dock คือท่าเรือและอู่ต่อเรือ เป็นจุดที่เสี่ยงที่สุดที่ไฟรั่วจะมาทางนั้น แต่นอกจากท่าเรือ ตลิ่ง ฝั่งที่มีไฟฟ้าแสงสว่างก็ล้วนเป็นจุดเสี่ยงได้ทั้งหมด และคนเรา อารามตกใจจะขึ้นฝั่งที่ใกล้ที่สุด เขาถึงเตือนให้หยุดฉุกคิด อย่าไปทางท่าเรือหรือเล่นน้ำแถวอู่ต่อเรือ สำหรับเรา ถ้าโดนไฟดูด เรามาจากทางไหนกลับไปทางนั้น อารามเราอาจเห็นบาตรวิถีใกล้ๆแห้งเลยจะรีบจ้ำขึ้น แต่ ไฟฟ้ามักมาจากฝั่ง รีบจ้ำขึ้น ไฟรั่วมาจากเสาไฟหลอดไฟบนฝั่งก็โดนไฟดูดตาย ถึงแปลแบบหลวมๆมาว่า หยุด! อย่ากลับขึ้นฝั่งรีบออกจากน้ำ!! เบิ่งก่อน เรามาทางไหน กลับไปทางนั้น ชัวร์กว่า

 

เตือนอย่าลงไปช่วยคนโดนไฟดูดในน้ำ ยกเคส น้องบาส ดีไม่เป็นผู้ประสบภัยอีกคน

 

และได้โพสต์ต่ออีกว่า ต่อคำถามที่ว่า ทำไมหนุ่มน้อยเสื้อม่วงไปช่วยคนโดนไฟดูดจมน้ำได้ อันนี้ อธิบายในแบบวงจรไฟฟ้าให้ดูว่าน้องเขาโชคดีขนาดไหน R1 ให้เป็นความต้านทานไฟฟ้าของกระแสที่ผ่านน้ำไปในทิศทางอื่น ความต้านทานจากน้ำถึงตัวคนคือ R2 และ ความต้านทานไฟฟ้าผ่านตัวคนคือ R3 คนนอนราบ จะเป็นสะพานไฟฟ้าชั้นดี กระแสไฟวิ่งผ่านตัวคนดีกว่าน้ำ นั่นคือ เคส Electric Shock Drowning ESD ยังไม่ล้มคือพอประคองตัว ถ้าล้มก็คือเกม ถ้าซวยยังไง ก็พยายามล้มขวางทิศทางกระแส อย่าล้มเข้าหาแหล่งไฟ  การก้าวเท้ายาวสั้น มีผลต่อปริมาณกระแสไฟเช่นกัน เพราะเราคือสะพานไฟ คือทางด่วนของไฟฟ้า ยิ่งก้าวยาว ก็เป็นช่องทางให้ไฟฟ้าเดินทางผ่านได้มากขึ้น

จังหวะการแตะตัวเพื่อช่วย วัตถุที่เข้าไปแตะตัวผู้ประสบภัยคือสะพานไฟ แตะปุ๊บเรากระตุกปั๊บ ถ้าเราล้มลงไป จากที่เหมือนจะทนไฟดูดได้ เราจะเป็นเหยื่อคนที่สอง เพจไม่แนะนำให้ลุยน้ำเข้าไปช่วยคนโดนไฟดูดในน้ำ นอกจากคุณจะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ คนทั่วไปควรถือหลักการ Reach Throw Row but Don't go into water อย่างเคร่งครัด ควรถือระยะปลอดภัยคือ 100 เมตร แน่นอน จริงๆถ้าเป็นน้ำจืด และเป็นไฟ Low volt ระยะอันตรายอาจแค่ 10 เมตร แต่เรารู้ได้อย่างไรว่าน้ำมันเป็นน้ำจืด ไม่ใช่น้ำเสียมีเกลือมีเคมีปน หรือนั่นเป็นไฟ 220 ไม่ใช่ไฟแรงดันสูง เราควรป้องกันไม่ให้มีเหยื่อไปเพิ่มในน้ำ ไม่ใช่ลงไปเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง

 

เตือนอย่าลงไปช่วยคนโดนไฟดูดในน้ำ ยกเคส น้องบาส ดีไม่เป็นผู้ประสบภัยอีกคน

 

ขอบคุณ Darth Prin

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline