ไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงเพิ่มอีก 2 ราย พร้อมเผยจังหวัดที่ตรวจเจอ

สธ.พบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 9 และรายที่ 10 ในภูเก็ต มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด ยันยังเฝ้าระวังโรคเข้มข้น แนะ ปชช.หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้มีผื่น-ตุ่มบนร่างกาย...

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  ได้รับรายงานจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ตรวจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรจำนวน 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยัน รายที่ 9 และรายที่ 10 ในจังหวัดภูเก็ต ประวัติพบว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน

โดยผู้ป่วยยืนยันรายที่ 9 เป็นเพศหญิง สัญชาติไทย อายุ 37 ปี อาชีพ พนักงานบริการ เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2565 มีไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตัว

 

ไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงเพิ่มอีก 2 ราย พร้อมเผยจังหวัดที่ตรวจเจอ

 

 

วันที่ 17 กันยายน 2565 ผู้ป่วยซื้อยารับประทานเอง ต่อมา เริ่มมีผื่นที่บริเวณก้น มีผื่นตุ่มหลายประเภท ทั้งตุ่มน้ำใส ตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง ทั่วร่างกาย ไม่คัน แต่เจ็บบริเวณที่เป็นตุ่ม จนถึง 25 กันยายน 2565 ขณะที่มีอาการป่วยในวันที่ 17 กันยายนให้ประวัติว่าได้สัมผัสใกล้ชิดกับชายชาวเยอรมัน อายุ 54 ปี ซึ่งต่อมาเริ่มมีอาการผื่นและตุ่มหนองที่บริเวณหน้าอก ในวันที่ 27 กันยายน 

สำหรับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 9 ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต และแพทย์ซักประวัติผู้ป่วยได้ข้อมูลว่าไม่ได้สัมผัสผู้ป่วยที่มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนัง และไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ ในช่วง 21 วัน ก่อนป่วย แต่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดชาวต่างชาติ แพทย์วินิจฉัยว่าสงสัยเป็นโรคฝีดาษวานร ส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อ วันที่ 26 กันยายน 2565 ผลตรวจ PCR พบเชื้อ Monkeypox virus

 

ไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงเพิ่มอีก 2 ราย พร้อมเผยจังหวัดที่ตรวจเจอ

 

 

กรมควบคุมโรคส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนโรคจากกองระบาดวิทยา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และโรงพยาบาลในพื้นที่ดำเนินการสอบสวนโรคตั้งแต่วันที่ 27 – 30 กันยายน 2565 ค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จนพบชาวเยอรมนี เป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 10 จากผลการตรวจ PCR ข้อมูลการสอบสวนพบว่าติดเชื้อผ่านการสัมผัสใกล้ชิด

สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ย. 65) พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรยืนยัน จำนวน 67,556 ราย เสียชีวิต 27 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังอยู่ในแถบทวีปยุโรป

ส่วนสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 65) พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 10 ราย

ขอแนะนำประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่ไม่รู้จัก หรือผู้ที่มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองบริเวณร่างกาย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้อื่น ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ รับประทานอาหารปรุงสุกสะอาดและไม่สัมผัสสัตว์ป่วย 

ทั้งนี้ การเฝ้าระวังผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร ในประเทศไทยยังคงดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อเนื่องทั้งในสถานพยาบาล คลินิกนิรนาม คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนังและโรงพยาบาล

ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ รวมทั้งการเฝ้าระวังเชิงรุกในสถานที่เสี่ยง เพื่อค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม และเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการเพื่อให้การตรวจวินิจฉัยทำได้รวดเร็วขึ้น และโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนมีศักยภาพในการรักษาโรคนี้ได้ ทั้งนี้หากท่านใดเคยมีกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สัมผัสใกล้ชิด หรือสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีอาการป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร เช่น มีผื่น ตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ดตามลำตัว ร่วมกับ มีไข้ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อและวินิจฉัยโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

ไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงเพิ่มอีก 2 ราย พร้อมเผยจังหวัดที่ตรวจเจอ

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline