- 04 ต.ค. 2565
"หมอมนูญ" นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจ รพ.วิชัยยุทธ ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุ คณะเดินทางศึกษาธรรมชาติเข้าไปในโพรงต้นไม้ เพื่อชมค้างคาว สุดท้ายเป็นอุทาหรณ์ชั้นดี
ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า การเดินเข้าไปในโพรงต้นไม้ใหญ่ในป่า เพื่อชมค้างคาวในเวลาเพียง 2-15 นาที จะหายใจสปอร์ของเชื้อราฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม (Histoplasma capsulatum) ลอยขึ้นมาในอากาศจากมูลค้างคาวที่ตกลงบนพื้นดิน เข้าไปในปอด ทำให้ป่วยเป็นโรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis)
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 มีคณะเดินทางศึกษาธรรมชาติเข้าไปในโพรงต้นไม้ เท่าที่ทราบ 7 ใน 10 คนของคณะนี้ 2-3 สัปดาห์หลังเข้าโพรงต้นไม้ บางคนเริ่มป่วย ไอ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เอกซเรย์ปอด 7 คน มีจุดขนาดแตกต่างกันกระจายทั่วปอด ไล่ตั้งแต่คนมีจุดเล็กที่สุดในปอดขนาด 3 มิลลิเมตร (ดูรูป) ไปถึงคนที่มีลักษณะเป็นก้อนขนาด 1 เซนติเมตรกระจายทั่วปอด (ดูรูป) คนที่มีก้อนในปอดพิสูจน์แล้วว่าเป็นโรคฮิสโตพลาสโมซิส ด้วยการตัดชิ้นเนื้อจากปอด พบเชื้อรา Histoplasma capsulatum เจริญเติบโตแบ่งตัวในปอด
ต้นไม้ที่มีโพรงนี้ชื่อไทย “ช้าม่วง”
เป็นต้นไม้กลุ่มวงศ์ยาง อายุกว่า 100 ปี สูงกว่า 40 เมตร โพรงต้นไม้นี้เกิดตามธรรมชาติ แคบเข้าได้ทีละคน ต้องก้มศีรษะเพื่อเข้าในโพรง มีพื้นที่ในโพรงให้คนเข้าไปได้ 6-7 คน ความสูงของโพรง 3 เมตร (ดูรูป) เป็นที่พักอาศัยของ”ค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก” Lesser false vampire bat (ดูรูป) บริเวณที่ค้างคาวอยู่สูงถึง 5 เมตรจากพื้น ค้างคาวชนิดนี้อาศัยในถ้ำและโพรงต้นไม้
ต้นไม้ต้นนี้อยู่ในป่าที่สมบูรณ์ โชคดีไม่เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเยี่ยมชม เพราะต้องให้คนในพื้นที่พาเดินเข้าไป อยู่ในบริเวณคลองวังหีบ หนานตากผ้า ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ผมได้แนะนำให้ติดป้ายเตือนที่หน้าโพรงต้นไม้ต้นนี้ “อันตราย ห้ามเข้าในโพรงต้นไม้ อาจติดเชื้อราจากมูลค้างคาว” (ดูรูป) และใครที่เคยเข้าไปในโพรงต้นไม้ต้นนี้ โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย ควรไปหาแพทย์ ขอทำเอกซเรย์ปอด และแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่า ตัวเองอาจติดเชื้อราที่ก่อโรคฮิสโตพลาสโมซิส คนที่อายุน้อยสุขภาพแข็งแรง ถึงติดเชื้อรา ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ หายเองได้ ไม่ต้องรักษา คนที่อายุมากมีโรคประจำตัว ต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อรา
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่ thainewsonline