- 29 ต.ค. 2565
สาธุ เปิดภาพหาดูยาก "หลวงพ่อโสธร" ช่วงบ่มรักก่อนปิดทอง มีให้เห็นเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการปิดทอง
จากกรณีที่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา กรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจสภาพองค์ "หลวงพ่อโสธร" หรือ หลวงพ่อพระพุทธโสธร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า พระพุทธรูปมีรอยกะเทาะแตกออก จนเห็นเนื้อใน สาเหตุการเสื่อมสภาพแตกร่อน เกิดจากการพอกทาสีด้วยวัสดุสมัยใหม่ (สีอะคริลิค) ทำให้ไม่ประสานกับวัสดุดั้งเดิม และแตกร่อนออกมา และอาจมีปัญหาของความชื้นภายในร่วมด้วย
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ทำการลอกทองออกจากองค์พระทั้งหมด เป็นการบูรณะใหม่โดยกรมศิลปากร ภายในพระอุโบสถหลังใหญ่ ของวัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา
ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2565 เพจเฟซบุ๊ก วัดโสธรวราราม วรวิหาร ได้โพสต์ภาพ องค์พระหลวงพ่อโสธร และพระพุทธรูปของวัดโสธรวรารามวรวิหาร ที่กำลังบูรณะใหม่ หลังการลงรักเงาครั้งสุดท้ายจะเข้าสู่กระบวนการบ่มรัก คือ การพักพื้นรักให้พื้นผิวแห้งสนิท เป็นเวลา 20-30 วัน ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก หลังจากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนปิดทองคำเปลว โดยทางเพจได้มีการระบุข้อความว่า
"ชมความงาม หลวงพ่อโสธร ช่วงบ่มรักก่อนปิดทอง เพียงแค่หนึ่งเดือนเท่านั้น ช่วงบ่มรักไม่ควรพลาดโดยประการทั้งปวง
พระราชภาวนาพิธาน วิ. เจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม เมตตาให้เผยแพร่ความงามหลวงพ่อโสธร และพระพุทธรูปปางต่างๆ ภายในพระอุโบสถ เพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้ โครงการอนุรักษ์พระพุทธรูปหลวงพ่อโสธร และพระพุทธรูป 17 องค์ งานบ่มพื้นรัก ภายหลังการลงรักเงาครั้งสุดท้าย จะเข้าสู่กระบวนการบ่มรัก คือ การพักพื้นรักให้พื้นผิวแห้งสนิท เป็นเวลา 20-30 วัน (ช่วงเวลาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก หลังจากนี้นจึงจะเป็นขั้นตอนปิดทองคำเปลวต่อไป
ทางวัดโสธรวราราม วรวิหาร จึงได้จัดนิทรรศการ ในโอกาสช่วงเวลา บ่มรัก ก่อนปิดทอง เปิดหน้าประวัติ ตำนาน งานพุทธศิลป์ "หลวงพ่อโสธร" ในงานอนุรักษ์หลวงพ่อโสธร กองโบราณคดี กรมศิลปากร ตามรูปแบบที่ปรากฎ หลวงพ่อโสธร พุทธรูป สมัยอยุธยาตอนต้น แบบอู่ทอง รุ่นที่ 2 พุทธศตวรรษที่ 20 ช่วง พ.ศ. 1901-2000"
ขอบคุณ วัดโสธรวราราม วรวิหาร
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline