- 03 พ.ย. 2565
สาวตั้งกระทู้แชร์วิธีบริหารเงิน หลังผ่านประสบการณ์ทำงานหนัก จนล้มป่วย ต้องเอาเงินเก็บมาใช้รักษาตัวเองจนแทบหมดตัว
เป็นกระทู้ที่ได้รับความสนใจในโลกออนไลน์อย่างมาก เมื่อมีสาวรายหนึ่งได้ตั้งกระทู้พันทิปในหัวข้อที่ว่า "คิดว่าหาเงินเก่งแล้วชีวิตจะสบาย สุดท้ายล้มไม่เป็นท่าเพราะคำว่าเจ็บป่วยแค่คำเดียว" โดยเธอออกมาแชร์ประสบการณ์การทำงานและวิธีบริหารเงินของตัวเอง พร้อมอยากเตือนคนที่ทำงานหาเงินหนัก เพื่อหวังว่าจะสบายในอนาคต แต่ถ้าไม่รู้จักบริหารเงิน ไม่เรียนรู้ที่จะบริหารความเสี่ยง ก็จะล้มไม่เป็นท่าแบบเธอ
โดย เจ้าของกระทู้เล่าว่า เมื่อก่อนเคยได้ยินคนพูดว่า "ทำงานแทบตาย สุดท้ายเอาเงินมารักษาตัว" แต่เธอไม่เคยเชื่อเลย คิดมาตลอดยิ่งทำงานหนักตอนนี้ อนาคตจะยิ่งสบาย จนเธอมาเจอกับเข้าตัวเอง เงินเก็บทั้งหมดที่เคยคิดว่าจะเอาไว้ใช้ตอนเกษียณต้องเอามาเป็นค่ารักษาตัวจนหมด ชีวิตเหมือนต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ตอนอายุ 32 กลายเป็นคนไม่เหลืออะไรสักอย่าง จนต้องกลับมาคิดกับว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดมันสูญเปล่าเกินไปหรือเปล่า
เธอยังเล่าอีกว่า เธอเกิดในครอบครัวธรรมดาหาเช้ากินค่ำ เป็นมนุษย์เงินเดือนทั่วไป พ่อแม่ไม่ได้มีสมบัติอะไรนอกจากความรู้ที่เขาพยายามส่งเสียให้ได้เรียนมาติดตัว เรียนจบหวังแค่ว่าต้องรีบสร้างตัว พยายามเป็นเสาหลักให้ครอบครัว และเธอก็เป็นพวกบ้างานมาก ทำทั้งงานประจำ-ฟรีแลนซ์ อะไรที่เป็นงานทำหมดไม่เคยเกี่ยง ขอแค่ได้เงินก็พอ ความคิดมีแค่อยากรวย และทางเดียวที่เธอจะรวยได้คือทำงานให้เยอะ แม้จะไม่ได้รวยมีเงินเป็นถุงเป็นถัง แต่ก็คิดว่าเราไม่ได้ลำบากเหมือนตอนเด็กแล้ว ทำให้มากกว่าคนอื่นเพราะรู้สึกว่าต้นทุนเราน้อย เลยต้องทำให้เยอะเข้าว่า ไม่งั้นคงหลุดจากความจนไม่ได้
เจ้าของกระทู้ยังเล่าอีกว่า ตอนนั้นไม่รู้ว่าคำว่าป่วยหนักมันแค่ไหน แต่ตัวเองรู้สึกเหมือนกึ่งหลับกึ่งตื่นตลอด นอนซมอยู่แต่ในห้อง เพราะกลัวตัวเองเป็นโควิดก็พยายามตรวจอยู่ตลอดแต่ก็ไม่เจอ เลยคิดว่าไข้หวัดทั่วไป จนถึงตอนที่หมอบอกว่าเธอป่วยนะ ต้องเข้ากระบวนการรักษาเลยทันที รอต่อไปไม่ได้แล้วเพราะระบบร่างกายมันกำลังจะล้มเหลวเป็นทอดๆ เหมือนโดมิโนล้ม มีผลต่อกันไปหมด วินาทีนั้นเหมือนฝัน เพราะเธอไม่เคยป่วยมาก่อน ไม่เคยต้องแอดมิทโรงพยาบาลสักครั้งในชีวิต
เธอยังเล่าอีกว่า คนรอบข้างเตือนตลอดเรื่องทำงานหนัก แต่เพราะคิดว่าตัวเองแข็งแรงมาตลอด ไม่เคยเจ็บป่วยอะไร เลยไม่ได้สนใจฟังคำพูดของคนอื่น ทำงานอาทิตย์ละ 7 วันไม่เคยหยุด นอนวันละ 4-5 ชั่วโมงคือมากสุดแล้ว กลางวันทำงานประจำ กลางคืนเป็นฟรีแลนซ์ เสาร์อาทิตย์ก็ทำงาน ไม่เคยให้ตัวเองมีวันหยุดพัก เรียกว่าทุกลมหายใจคืองานอย่างเดียวจริงๆ ถ้าเธอว่างจะรู้สึกผิดกับตัวเองทันทีว่าทำไมไม่ทำงาน และยิ่งเห็นเงินเก็บในบัญชีเยอะขึ้น ก็เหมือนเป็นแรงผลักดันให้เธอต้องหาเงินต่อ เรื่องเที่ยวเตร่ไม่คิดอยากไป พยายามไม่ใช้จ่าย เพื่อจะทำให้ยอดเงินในบัญชีขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าช่วงนั้นเสพติดการหาเงินมากๆ
พอเห็นตัวเลขในบัญชีก็ภาคภูมิใจ ชื่นใจเองคนเดียว คิดไปเองว่าที่บ้านคงภูมิใจไปกับเธอ จนเธอเริ่มมารู้สึกว่าตัวเองป่วยตอนที่เดินแล้วรู้สึกเหมือนตกหลุม บางทีเดินอยู่ดีๆ รู้สึกว่าตัวเองทรงตัวไม่ค่อยได้ ตอนนั้นคิดแค่ว่าตัวเองน่าจะพักผ่อนน้อย และเป็นคนไม่ถูกโรคกับโรงพยาบาลก็หายามากินเองตามอาการ จนวันหนึ่งเธอป่วยหนักขนาดที่ต้องเรียกรถโรงพยาบาลมารับ เพราะคิดว่าถ้าไปช้าอีกนิดเดียวอาจจะตายก็ได้ และสิ่งแรกที่หมอพูดกับเธอคือ ทำไมปล่อยให้ตัวเองป่วยหนักขนาดนี้
ช่วงที่รักษาตัวเป็นอะไรที่ยุ่งยากใจมาก แต่นั่นก็ไม่ยุ่งยากเท่าตอนที่เธอต้องเข้าออกโรงพยาบาลแล้วต้องมีคนดูแล พ่อแม่ก็อายุเยอะแล้ว ได้น้องสาวก็เลยต้องออกจากงานมาเป็นคนคอยดูแล พาไปหาหมอตามนัด เธอต้องเอาเงินเก็บตัวเองทั้งหมดที่มีมารักษาตัว เพราะค่าใช้จ่ายบางอย่างที่นอกเหนือจากประกันสังคมมี เช่น ค่าอาหาร ของกินของใช้เวลาต้องไปหาหมอ เป็นช่วงที่เงินเก็บค่อยๆลดลงเรื่อยๆ จนเธอรู้สึกแย่ ยิ่งเห็นเงินในบัญชีลดลงยิ่งเครียดหนักกว่าเดิม รู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวสุดๆ ความภูมิใจที่เคยมีว่าตัวเองเก่ง ทำงานเก่ง หาเงินได้เยอะถูกทำลาย จนรู้สึกว่าตัวเองคือตัวภาระ แต่ครอบครัวทำให้เธอเห็นว่าไม่ได้เป็นแบบตัวเองคิด จนเธอคิดได้และลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง รักษาตัวจนหายดี ทั้งร่างกายและจิตใจ ผ่านตรงนั้นมาได้เพราะความรักของครอบครัวจริงๆ พอผ่านตรงนั้นมาได้เธอเลยตกผลึกกับตัวเองว่า แค่หาเงินเก่งอย่างเดียวไม่พอ แต่มันต้องรู้จักบริหารเงิน และกระจายความเสี่ยงด้วย
ทั้งนี้ เจ้าของกระทู้ยังได้แชร์วิธีการบริหารเงินของเธอ ที่คิดว่าทำแล้วชีวิตเริ่มต้นใหม่อย่างมั่นคงมากขึ้น เผื่อเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนที่ได้เข้ามาอ่าน จะได้รีบวางแผนทางการเงินและไม่ต้องล้มเหลวจนต้องมานั่งนับหนึ่งใหม่แบบเธอซึ่งเป็นการวางแผนทางการเงินที่เธอปรับจากหลายๆที่ แล้วเลือกแบบที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด คือ
1. ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เธอเป็นคนที่ทำรายรับ-รายจ่ายมาตลอด คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้มองเห็นว่าได้รายรับมาจากไหนบ้าง และใช้จ่ายอะไรไปบ้าง พอถึงสิ้นเดือนก็จะมาดูภาพรวมอีกทีว่าเดือนที่ผ่านมาเราจ่ายค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอื่นๆ ไปเท่าไหร่ แล้วค่อยมาวางแผนว่าควรลดตรงไหน และควรเพิ่มตรงไหนบ้าง
2. เงินสำรองฉุกเฉิน คือเงินที่จะเอาออกมาใช้ได้ในยามฉุกเฉิน ควรเป็นเงินที่เบิกถอนออกมาใช้ได้เลย ไม่ต้องมีเงื่อนไขมาก หรืออะไรก็ได้ที่จะแปรสภาพมาเป็นเงินได้ง่ายๆ เมื่อก่อนเธอไม่ได้คิดถึงเงินสำรองฉุกเฉินเลย ไม่ได้วางแผนว่าถ้าต้องหยุดงานนานๆ หรือมีเหตุให้ต้องหยุดงานจะเอาเงินตรงไหนมาใช้ เลยต้องดึงเงินเก็บทั้งหมดที่มีก้อนเดียวมาใช้ทั้งหมด พอได้รู้เรื่องเงินสำรองเลยแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาเก็บไว้ใช้หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เงินก้อนนี้เธอจะดูว่าแต่ละเดือนตัวเองมีรายจ่ายอะไรบ้าง แล้วสำรองเอาไว้ 3-6 เดือน เช่น
รายจ่ายของเธอแต่ละเดือนประมาณ 25000
- ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 12,000 บาท
- ให้พ่อแม่ 5,000 บาท
- ค่าบัตรเครดิต 5,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 3,000 บาท
เงินก้อนนี้ที่เธอจะใช้สำรองไว้ในกรณีฉุกเฉินประมาณ 75,000-150,000 บาท โดยทยอยฝากไปเรื่อยๆ ไม่ได้ฝากเป็นก้อนทีเดียว ซึ่งไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเจออะไรอีกบ้าง แต่อย่างน้อยก็จะอุ่นใจว่าถ้ามีเหตุฉุกเฉินจริงๆ จะมีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป
3. ลงทุนเพื่ออนาคต เธอยอมรับตามตรงว่าไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย เพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวมาก จนได้คุยกับน้องคนหนึ่ง เขาอธิบายเรื่องเงินเฟ้อว่า เงิน 50 บาทตอนนี้อาจจะซื้ออาหารได้ 1 จาน แต่อนาคตอาจจะซื้อลูกชิ้นได้แค่ 1 ไม้ ซึ่งเธอเพิ่งมาเข้าใจอย่างถ่องแท้จริงๆ เรื่องเงินเฟ้อตอนนี้แหละ ช่วงที่เงินเฟ้อทั่วโลก และเข้าใจแล้วว่าทำไมเงินฝากธรรมดาถึงเอาชนะเงินเฟ้อได้ยาก เงินหนึ่งล้านในวันนี้อาจจะมีค่าแค่แสนเดียวในอีกห้าหกปีข้างหน้าก็ได้เลยกระจายการลงทุนแยกตามความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ สมมติว่ามีเงิน 100 บาท จะแบ่งลงทุนใน
- สลากออมสิน 40 บาท
- กองทุนรวม 30 บาท
- หุ้น 30 บาท
ซึ่งอันนี้เธอแบ่งตามที่ตัวเองรับได้ และคิดว่าถ้าเข้าใจการลงทุนมากขึ้นกว่านี้ อาจจะปรับพอร์ตการลงทุนตัวเองในอนาคต
4. ลงทุนกับสุขภาพ เมื่อก่อนไม่เคยคิดเลยเพราะมองว่าจ่ายประกันสังคมทุกเดือน เจ็บป่วยก็ใช้สิทธิ์ประกันสังคมได้ และไม่เคยคิดว่าตัวเองจะล้มป่วย ข้อนี้เธอจะลงทุนโดยการ
- ออกกำลังกายให้มากขึ้น ยอมจ่ายค่าฟิตเนสเพื่อออกกำลังกายอย่างน้อยที่สุดก็วิ่งหรือเดินวันละ 1 ชั่วโมง พอได้ออกกำลังกายแล้วสุขภาพดีขึ้นมาก และปรับการนอน ใช้ชีวิตให้บาลานซ์ขึ้น
- ประกันสุขภาพ เมื่อก่อนไม่เคยสนใจเลย และไม่เคยรู้รายละเอียดเพราะคิดว่าใช้ประกันสังคมได้ แต่มันมีหลายอย่างที่อยู่นอกเหนือจากที่ประกันสังคมจะจ่ายให้ได้ เธอเลือกประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายโรคร้ายแรง เพราะคิดว่าน่าจะคุ้มครองได้ครอบคลุม แล้วเอาไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย
5. วางแผนทางภาษี เธอมองภาษีเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องมากๆ นอกเหนือจากการลดหย่อนที่เป็นค่าลดหย่อนทั่วไปแล้วเธอก็เพิ่มการลดหย่อนจาก ประกัน กองทุนรวม การบริจาค
ขอบคุณ เจ้าของกระทู้
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thainewsonline.co/