- 28 พ.ย. 2565
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เผยข้อมูลในประเด็น "ไม่ใส่กางเกงใน ทำให้เป็นโรคไส้เลื่อน" จริงหรือ? เหล่าชายหนุ่มทั้งหลาย น่าจะถูกเตือนมาตั้งแต่เด็กๆ
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ โพสต์ข้อความให้ประเด็น "ไม่ใส่กางเกงใน ทำให้เป็นโรคไส้เลื่อน" จริงหรือ? โดย "อ.เจษฎ์" ได้ระบุข้อความว่า
"ไม่ได้ใส่กางเกงใน ไม่ได้ทำให้เป็นโรคไส้เลื่อน" ครับ
เป็นสิ่งที่เหล่าชายหนุ่มทั้งหลาย น่าจะถูกเตือนมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า "ต้องใส่กางเกงในนะ ไม่งั้นจะเป็นโรคไส้เลื่อน" !? ... ซึ่งไม่เป็นความจริงนะครับ !
จริงๆ แล้ว โรคไส้เลื่อน เกิดจากความดันในช่องท้องสูง ร่วมกับกล้ามเนื้อและพังผืดบริเวณผนังหน้าท้องหย่อนยาน ทำให้ลำไส้เคลื่อนที่มาตุงบริเวณหัวหน่าวถุงอัณฑะ หรือขาหนีบ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดไส้เลื่อน คือการออกแรงเบ่งบ่อย ๆ เช่น ยกของหนัก ไอเรื้อรัง ปัสสาวะลำบาก ท้องผูก รวมไปถึงผู้ปวยโรคตับที่มีน้ำในช่องท้อง
นอกจากความเชื่อผิดๆ เรื่อง "ไม่ใส่กางเกงใน ทำให้เป็นโรคไส้เลื่อน" แล้ว ความเชื่อที่บอกว่า "โรคไส้เลื่อน เป็นโรคเฉพาะของผู้ชายเท่านั้น" ก็ไม่จริงอีกเช่นกัน ! เพราะผู้หญิงก็สามารถเกิดโรคไส้เสื่อนได้ครับ (เพียงแค่มีโอกาสในผู้ชาย มากกว่า)
เอาข้อมูลเรื่องโรคไส้เลื่อน จากโรงพยาบาลรามาฯ มาให้อ่านประกอบครับ
#ไส้เลื่อนเกิดจากอะไร
ไส้เลื่อนเกิดจากความผิดปกติของผนังช่องท้องที่อ่อนแรงมาตั้งแต่เกิด หรือเกิดจากการที่ผู้ป่วยเคยได้รับการผ่าตัดจนทำให้ผนังช่องท้องบริเวณนั้นอ่อนแอ
ในบางกรณีสามารถเกิดขึ้นจากแรงดันที่มากผิดปกติในช่องท้อง เช่น ไอ-จาม ยกของหนัก ทำให้ลำไส้หรือกลุ่มไขมันในช่องท้องบริเวณนั้น เลื่อนออกมาจากตำแหน่งที่เคยอยู่
#อาการของไส้เลื่อน
ในตอนเริ่มต้นผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนนั้นส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ แสดงออกมาให้เห็นชัดเจน ต้องอาศัยการสังเกตจากลักษณะภายนอกเป็นหลัก เช่น มีก้อนลักษณะตุงนูนยื่นออกมาบริเวณที่เคยผ่าตัด หรือบริเวณขาหนีบ
หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษาจะเริ่มมีอาการจุก ไปจนถึงเจ็บปวดบริเวณที่มีก้อนตุงนูนออกมาจนถึงขั้นรู้สึกแน่นท้อง ปวดแสบปวดร้อน ซึ่งเป็นอาการในระดับรุนแรงต้องได้รับการผ่าตัดด่วน
#ไส้เลื่อนเกิดขึ้นได้บริเวณใดบ้าง
สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายส่วนของร่างกาย เช่น ไส้เลื่อนจากตำแหน่งที่เคยผ่าตัด ไส้เลื่อนบริเวณสะดือที่เคลื่อนตัวเป็นก้อนนูนออกมาบริเวณกลางหน้าท้องหรือบริเวณสะดือ ไส้เลื่อนขาหนีบทั้งซ้ายและขวาหรือถุงอัณฑะเกิดขึ้นจากความผิดปกติของผนังช่องท้องตั้งแต่เกิด
ซึ่งไส้เลื่อนขาหนีบคือบริเวณที่พบได้บ่อยมากที่สุด จนทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า “ไส้เลื่อน” เกิดขึ้นได้ในเฉพาะผู้ชายเท่านั้น
#ผู้หญิงเป็นไส้เลื่อนได้หรือไม่
นอกจากไส้เลื่อนจะสามารถเกิดขึ้นได้หลายส่วนของร่างกายแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งผู้หญิงและผู้ชายอีกด้วย แต่จะพบได้ในผู้ชายมากกว่า เนื่องจากบริเวณขาหนีบของผู้ชายจะมีช่องถุงอัณฑะที่อ่อนแรงได้ง่าย ทำให้มีโอกาสเกิดไส้เลื่อนขึ้นมากกว่า
ส่วนไส้เลื่อนที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการยกของหนัก รวมถึงผ่าตัดหรือผ่าคลอดเนื่องจากการตั้งครรภ์จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องอ่อนแรงจนเกิดไส้เลื่อนขึ้นมาได้
#อันตรายที่เกิดจากไส้เลื่อน
ไส้เลื่อนเป็นภาวะที่ไม่อันตราย แต่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ลำไส้ทะลักออกมาเยอะจนผนังของช่องท้องเกิดการรัดตัว ทำให้ลำไส้ขาดเลือด เนื้อเยื่อเกิดการติดเชื้อและตายในที่สุด
ซึ่งในกรณีนี้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉินอย่างเร็วที่สุด เพราะหากผ่าไม่ทันอาจถึงขึ้นเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้
โดย อ. นพ.พงศศิษฏ์ สิงหทัศน์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุและเวชบำบัดวิกฤตศัลยกรรม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ข้อมูลจาก rama mahidol.ac.th
ภาพประกอบจาก chulalongkornhospital.go.th
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่ thainewsonline